เป็นการรักษาโดยการใช้กล้องส่องเข้าทางปาก ผ่านทางเดินอาหารส่วนต้นไปจนถึงท่อเปิดของน้ำดีในลำไส้เล็ก แล้วทำการฉีดสี เพื่อแสดงภาพการถ่ายรังสี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจค้นโรคระบบทางเดินน้ำดีและตับอ่อน และการรักษาความผิดปกติของท่อทางเดินน้ำดีและตับอ่อน เช่น การคล้อง หรือขบนิ่วออก ในกรณีที่มีนิ่วในท่อทางเดินน้ำดี หรือทำการระบายการอุดตันของท่อทางเดินน้ำดีหรือท่อตับอ่อน โดยการขยายรอยตีบและใส่ท่อระบายน้ำดีคาไว้
อาการบ่งชี้ในการส่องกล้องตรวจท่อทางเดินน้ำดีและตับอ่อน
1. ผู้ป่วยเป็นโรคดีซ่าน
2. ผู้ป่วยมีนิ่วในท่อทางเดินน้ำดี ท่อทางเดินน้ำดีหรือท่อตับอ่อนอุดตัน
3. ผู้ป่วยมีเนื้องอกของท่อทางเดินน้ำดีหรือตับอ่อน
4. ผู้ป่วยมีอาการตับอ่อนอักเสบจากนิ่วในท่อทางเดินน้ำดี
5. มีการรั่วของท่อน้ำดีหรือท่อตับอ่อน
การเตรียมตัวก่อนการส่องกล้องตรวจท่อทางเดินน้ำดีและตับอ่อน
- งดรับประทานต้านเกร็ดเลือดหรือยาละลายลิ่มเลือด 7 วันก่อนการส่องกล้อง
- งดรับประทานน้ำและอาหารทุกชนิดอย่างน้อย 6 ชั่วโมง ก่อนตรวจ
ขั้นตอนการเข้ารับการตรวจส่องกล้องตรวจท่อทางเดินน้ำดีและตับอ่อน
แพทย์ทำการใส่กล้องส่องตรวจหลอดอาหาร กระเพาะอาหารจนถึงท่อเปิดของน้ำดีในลำใส้เล็ก และฉีดสารทึบแสง ถ่ายภาพเอกซเรย์ไว้ เมื่อพบความผิดปกติ เช่น นิ่ว จะดึงนิ่วออก หรือพบว่ามีการอุดตันของท่อทางเดินน้ำดี หรือท่อตับอ่อน จะใส่ท่อระบายน้ำดีคาไว้
ภาพการฉีดสีท่อน้ำดี
การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยหลังส่องกล้องตรวจท่อทางเดินน้ำดีและตับอ่อน
ภายหลังส่องกล้องต้องนอนพักที่โรงพยาบาลอย่างน้อย 24 ชั่วโมง ในช่วงแรกจำเป็นต้องงดน้ำและอาหารเพื่อสังเกตุภาวะแทรกซ้อนจากการส่องกล้อง แล้วจึงค่อยๆเริ่มอาหาร หลังการตรวจผู้ป่วยอาจมีอาการแน่นท้องหรือเจ็บคอ แต่จะดีขึ้นตามลำดับ
เมื่อกลับบ้าน ควรสังเกตอาการผิดปกติเองที่บ้าน เช่น ปวดท้องรุนแรง ท้องแข็ง แน่นอึดอัดท้องมาก หายใจหอบเหนื่อย มีไข้ให้รีบแจ้งแพทย์ทันที
ผู้ป่วยควรมาพบแพทย์ตามนัด และในกรณีที่มีอาการแทรกซ้อนหรือแพ้ยา ให้มาพบแพทย์ก่อนนัด
ความเสี่ยงและผลข้างเคียงของการส่องกล้องตรวจท่อทางเดินน้ำดีและตับอ่อน
ความเสี่ยงทั่วไป
-เจ็บคอ เกิดจากการเสียดสีของกล้องหรือการใส่ท่อช่วยหายใจขณะส่องกล้อง โดยส่วนใหญ่จะหายเองภายใน 24 ชั่วโมงหลังการส่องกล้อง หรือน้อยกว่านั้น
-ท้องอืด เกิดจากแพทย์ต้องเป่าลมผ่านกล้องเข้าสู่ทางเดินอาหารขณะทำการส่องกล้องเพื่อให้ทำหัตถการได้ง่ายขึ้น โดยอาการจะดีขึ้นเมื่อร่างกายขับลมออกมา
ความเสี่ยงเฉพาะด้าน
-ตับอ่อนอักเสบ เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย เกิดขึ้นร้อยละ 5-15 ขึ้นกับความยากง่ายของหัตถการที่ทำ
-มีภาวะเลือดออกภายหลังหัตถการ โดยปกติเลือดหยุดได้เอง แต่ถ้าผู้ป่วยรับประทานยาในกลุ่มต้านเกร็ดเลือดหรือยาละลายลิ่มเลือด อาจเพิ่มโอกาสในการเกิดภาวะเลือดออกภายในกระเพาะได้ ดังนั้นผู้ป่วยจำเป็นต้องแจ้งแพทย์ก่อนการส่องกล้อง เพื่อพิจารณาหยุดยาดังกล่าวก่อนการส่องกล้องตามความดุลยพินิจของแพทย์
-ลำไส้ทะลุเป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้น้อยมาก (น้อยกว่าร้อยละ 1) คนไข้ก็อาจไม่รู้สึกปวดท้องเฉียบพลันทันที เพียงแต่จะอยู่แบบไม่สุขสบาย มีไข้ รู้สึกเหนื่อย หรือชีพจรเต้นเร็ว ดังนั้นเมื่อเกิดความผิดปกติขึ้นภายในร่างกายโดยที่ไม่แน่ใจ ให้มาพบแพทย์เพื่อความปลอดภัย