คือการรักษาแบบใช้กล้องที่มีลักษณะเป็นท่อที่มีขนาดเล็กขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางที่ 10-13 มิลลิเมตร และยาว 160-180 เซนติเมตร สามารถโค้งงอได้ที่ปลายกล้อง มีเลนส์ขยายภาพปลายอีกด้านหนึ่งต่อเข้าเครื่องกำเนิดแสง แล้วส่งภาพมายังจอรับภาพ สามารถเก็บรายละเอียดภายในลำไส้ใหญ่ได้ทั้งหมด โดยการส่องเข้าไปทางทวารหนักเพื่อตรวจดูลำไส้ใหญ่ ส่วนปลาย ส่วนกลาง ส่วนต้น และลำไส้เล็กส่วนปลาย ใช้เพื่อตรวจหาลักษณะความผิดปกติในลำไส้ใหญ่ ส่วนใหญ่ใช้ในกรณีที่สงสัยโรคมะเร็งลำไส้หรือติ่งเนื้อในลำไส้ หรือใช้ตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และช่วยในการรักษาก้อนเนื้องอกแบบที่ไม่ใช่มะเร็ง (polyp) ที่เจริญเติบโตขึ้นในบริเวณผนังลำไส้ใหญ่ หรือตรวจอาการต่างๆของลำไส้ใหญ่ เช่น ท้องเสียเรื้อรัง ท้องผูกเรื้อรังถ่ายเป็นเลือด ลักษณะอุจจาระเปลี่ยนแปลงไป (เช่น อุจจาระลำเล็กลงหรือเป็นขี้แพะ) ปวดท้อง ท้องอืดแน่น ทั้งนี้การตรวจด้วยการส่องกล้องจะให้ความแม่นยำมากกว่าการเอกซเรย์
คำแนะนำ
การเตรียมตัวก่อนการส่องกล้องลำไส้ใหญ่
- แจ้งข้อมูลให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับโรคประจำตัว ประวัติการแพ้ยา/สารเคมี ประวัติการผ่าตัด และยาที่รับประทานเป็นประจำ รวมถึงยาที่ใช้ประจำ ในกรณีที่ผู้ป่วยรับประทานยาต้านเกร็ดเลือด หรือยาละลายลิ่มเลือด แพทย์อาจพิจารณาหยุดยาดังกล่าวเพื่อป้องกันภาวะตกเลือดหลังทำหัตถการ
- การส่องกล้องลำไส้ใหญ่จำเป็นต้องเตรียมลำไส้ให้สะอาด ดังนั้นจึงควรปฏิบัติดังนี้
1) 2-3 วันก่อนส่องกล้อง ให้รับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย เช่น ข้าวต้มปลา โจ๊ก หลีกเลี่ยงอาหารจำพวกผักและผลไม้
2) 1 วัน ก่อนวันส่องหล้อง ให้รับประทานอาหารเหลว เช่น ซุปใส โจ๊ก น้ำผลไม้ และเยลลี่ หลีกเลี่ยงอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ผักผลไม้ หรือน้ำผลไม้ที่มีสีเข้ม เช่น น้ำองุ่น ซุปไก่สกัดทุกชนิด
3) เตรียมลำไส้เพื่อการส่องกล้องตามคำแนะนำของแพทย์ ทั้งนี้เพื่อประสิทธิภาพของการส่องกล้อง ควรปฏิบัติตามคำแนะนำการเตรียมลำไส้อย่างเคร่งครัด
4) ไม่ควรนำสิ่งของมีค่ามาโรงพยาบาลในวันที่ทำการส่องกล้อง ท่านที่มีฟันปลอม คอนเทคเลนส์ ควรถอดก่อนเข้าห้องตรวจ
การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยหลังส่องกล้องลำใส้ใหญ่
- ผู้ป่วยนอนพักบนเตียง เพื่อสังเกตอาการ ประมาณ 60 นาทีหรือจนกว่าจะตื่นดี
- สังเกตอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น เช่น ปวดท้องรุนแรง ท้องแข็ง แน่นอึดอัดท้องมาก หายใจหอบเหนื่อย มีไข้ให้รีบแจ้งแพทย์ทันที
- ผู้ป่วยควรมาพบแพทย์ตามนัด และในกรณีที่มีอาการแทรกซ้อนหรือแพ้ยา ให้มาพบแพทย์ก่อนนัด
- ควรมีผู้ดูแลระหว่างเดินทางกลับห้ามขับรถหรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกลภายใน 24 ชั่วโมงหลังการส่องกล้อง โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับยาระงับปวด/ระงับความรู้สึกระหว่างส่องกล้อง
ความเสี่ยงและผลข้างเคียงของการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่
ความเสี่ยงทั่วไป
-ท้องอืด เนื่องจากแพทย์ต้องเป่าลมผ่านกล้องเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ขณะทำการส่องกล้องเพื่อให้เห็นรายละเอียดระหว่างการส่องกล้องได้อย่างชัดเจน โดยอาการดังกล่าวจะดีขึ้น เมื่อร่างกายขับลมออกมา
ความเสี่ยงเฉพาะด้าน
- มีภาวะเลือดออก เนื่องจากตัดชิ้นเนื้อ ซึ่งโดยปกติแผลจากการตัดชิ้นเนื้อจะมีขนาดเล็กและเลือดหยุดได้เองหรือถ้ามีการตัดติ่งเนื้อในลำไส้ อาจมีอัตราเสี่ยงในการมีเลือดออกน้อยกว่าร้อยละ 1 ซึ่งแพทย์จะดำเนินการแก้ไขปัญหาได้ทันที
- เกิดภาวะลำไส้ทะลุโดยมีความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้น้อยมากกว่าร้อยละ 1 โดยผู้ป่วยสูงอายุจะมีลำไส้ที่บาง มีความเสี่ยงของลำไส้ทะลุสูงขึ้น เมื่อเกิดภาวะเสี่ยงนี้ผู้ป่วยต้องได้รับผ่าตัดซ่อมแซม
- เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการได้รับยานอนหลับ เช่นแพ้ยา หรือมีการกดการหายใจเนื่องจากยานอนหลับ เป็นต้น