ไวรัสตับอักเสบ (Hepatitis virus) ประกอบด้วยกัน 5 ชนิด ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบเอ บี ซี ดี และอี ซึ่งการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบางชนิดทำให้เกิดตับอักเสบเฉียบพลัน (Acute hepatitis) และหากการอักเสบเป็นนานมากกว่า 6 เดือน จะให้เกิดตับอักเสบเรื้อรัง (Chronic hepatitis) ที่อาจนำไปสู่ภาวะตับแข็งและมะเร็งตับในอนาคตได้
ไวรัสตับอักเสบเอและอี ก่อให้เกิดภาวะตับอักเสบเฉียบพลัน แต่มักไม่ก่อให้เกิดตับอักเสบเรื้อรัง ในขณะที่ไวรัสตับอักเสบบีและซี สามารถก่อให้เกิดภาวะตับอักเสบเฉียบพลันและเรื้อรังได้ อีกทั้งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดตับแข็งและมะเร็งตับ ส่วนไวรัสตับอักเสบดี เป็นไวรัสที่ไม่สมบูรณ์ จำเป็นต้องอาศัยโปรตีนของไวรัสตับอักเสบบีในการเข้าสู่เซลล์ตับและการเพิ่มจำนวนของไวรัส ดังนั้นการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบดีจึงเกิดเฉพาะกลุ่มผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเท่านั้น
ในที่นี้ผู้ประพันธ์กล่าวถึงเฉพาะไวรัสตับอักเสบบี
ไวรัสตับอักเสบบีเป็นปัญหาสำคัญที่พบได้ทั่วโลก ก่อให้เกิดตับอักเสบเฉียบพลันและเรื้อรัง อีกทั้งยังนำไปสู่ภาวะตับแข็ง (Cirrhosis) และมะเร็งตับ (Hepatocellular carcinoma) ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกในปี พ.ศ. 2562 มีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีกว่า 296 ล้านคน และพบผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงถึง 1.5 ล้านคนต่อปี โดยพบอุบัติการณ์การติดเชื้อมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
การติดต่อ
การแพร่เชื้อของไวรัสตับอักเสบบี พบได้ 2 รูปแบบ ได้แก่
- การติดเชื้อจากแม่สู่ลูก (Perinatal/vertical transmission) เกิดจากแม่ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบแล้วส่งต่อเชื้อให้กับทารกขณะคลอด ซึ่งการติดเชื้อในรูปแบบนี้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ แต่ปัจจุบันระบบสาธารณสุขดีขึ้น มีการฉีดวัคซีน และยาลดไวรัสตับอักเสบบี ทำให้ลดการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกลงได้
- การติดเชื้อในครอบครัว และสู่บุคคลอื่น (Horizontal transmission) จากการสัมผัสสารคัดหลั่งต่างๆ เช่น เลือด น้ำลาย อสุจิ ผ่านทางผิวหนังที่มีบาดแผล การใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น แปรงสีฟัน มีดโกน ที่ตัดเล็บ รวมถึงการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน และการมีเพศสัมพันธ์เสี่ยง
อาการแสดง
ไวรัสตับอักเสบบี ทำให้เกิดตับอักเสบเฉียบพลันและเรื้อรังได้ ปัจจัยที่ส่งผลต่ออาการแสดงและรูปแบบการดำเนินโรค คือ อายุของผู้ป่วย
เมื่อมีการติดเชื้อแบบเฉียบพลัน ในผู้ใหญ่ที่มีภูมิคุ้มกันปกติ ร่างกายจะกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ซึ่งกว่า 90% ของผู้ป่วยจะสามารถกำจัดเชื้อและหายขาดได้ มีผู้ป่วยเพียง 2-5% ที่ไม่สามารถกำจัดเชื้อและเกิดการติดเชื้อแบบเรื้อรัง ในขณะที่เด็กและทารกที่ติดเชื้อจากแม่ ภูมิคุ้มกันยังไม่ดีพอที่จะกำจัดเชื้อ ทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีการดำเนินโรคเข้าสู่การติดเชื้อเรื้อรัง หรือที่เรียกว่าเป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบี
เมื่อติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี มีระยะเวลาฟักตัวอยู่ที่ 60-90 วัน ผู้ป่วยส่วนมากมักไม่มีอาการ หากมีอาการก็มักไม่รุนแรง อาการที่พบได้ เช่น คลื่นไส้อาเจียน ปวดเมื่อย ไข้ ปวดข้อ มีผื่นนำมาก่อนที่จะมีภาวะเหลืองตามมา โดยทั่วไปหากมีภาวะเหลือง อาการจะดีขึ้นภายใน 1-3 เดือน แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจเกิดภาวะตับวายเฉียบพลัน (Acute liver failure) ภายใน 4 สัปดาห์หลังจากเริ่มมีอาการ และเมื่อติดตามที่ 6 เดือนภายหลังการติดเชื้อ หากร่างกายไม่สามารถกำจัดเชื้อได้ การดำเนินโรคจะเข้าสู่การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง
เนื่องจากเมื่อมีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ผู้ป่วยส่วนมากมักไม่มีอาการ ทำให้ผู้ป่วยบางรายอาจมาพบแพทย์ด้วยอาการแน่นท้อง ท้องโต บวม เหลือง คลำได้ก้อนที่ท้อง ตับม้ามโต เบื่ออาหารน้ำหนักลด เลือดออกในทางเดินอาหาร ซึ่งเป็นอาการจากภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง เช่น ตับแข็ง มะเร็งตับ
ภาพที่ 1 แสดงการดำเนินโรคเมื่อติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี
(ภาพจากเอกสารประกอบการบรรยายงานประชุมวิชาการ GI Survival Guide for Interns & Medical Students 2021
โดย นพ.ศุภพัชญ ศรีภูษณาพรรณ)
การวินิจฉัย
- ซักประวัติและตรวจร่างกายโดยละเอียด เพื่อหาปัจจัยเสี่ยงการติดเชื้อ อาการที่เป็นภาวะแทรกซ้อนจากตัวโรค ความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับ และเจาะเลือดเพื่อดูค่าการทำงานของตับ (Liver function test) รวมถึงการส่งตรวจอัลตราซาวด์ตับหรือการตรวจพังผืดในเนื้อตับ (Fibroscan) เพิ่มเติม
- การยืนยันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี
- ทำได้โดยการเจาะเลือดตรวจทาง Serology ได้แก่ HBsAg, anti-HBc, anti-HBs
- เมื่อตรวจพบว่ามีการติดเชื้อ จึงตรวจหาปริมาณเชื้อไวรัส (HBV DNA Viral load) เพื่อประเมินก่อนการเริ่มรักษาและติดตามการรักษา
- ในผู้ป่วยบางรายอาจมีการส่งตรวจเพิ่มเติม เช่น HBeAg, anti-HBe เพื่อประเมินระยะของการติดเชื้อ
3.ตรวจหาการติดเชื้อไวรัสที่อาจพบร่วมกับการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี เช่น ไวรัสตับอักเสบซี ไวรัสตับอักเสบเอ เอชไอวี ส่วนไวรัสตับอักเสบดีพบการติดเชื้อในประเทศไทยน้อย พิจารณาตรวจเพิ่มในผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีที่มีประวัติใช้สารเสพติดฉีดเข้าเส้นเลือด และค่าการทำงานของตับไม่ลดลงหลังการรักษา
การรักษา
แม้ปัจจุบันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังยังรักษาไม่หายขาด แต่เป้าหมายของการรักษาคือเพื่อลดการเกิดตับอักเสบ ชะลอการดำเนินโรคสู่การเกิดตับแข็งและมะเร็งตับ และลดการแพร่เชื้อด้วยการให้ยาต้านไวรัสเพื่อกดปริมาณไวรัสให้ต่ำที่สุด ทั้งนี้แพทย์จะตรวจประเมินข้อบ่งชี้ก่อนเริ่มยา หากยังไม่มีข้อบ่งชี้ในการเริ่มยาจะนัดติดตามอาการ ผลเลือด การอัลตราซาวด์ตับทุก 3-6 เดือนตามความเหมาะสม
การตรวจคัดกรองมะเร็งตับ
เนื่องจากไวรัสตับอักเสบบีสามารถรวมสารพันธุกรรมของไวรัสเข้ากับเซลล์ตับ อาจทำให้เกิดมะเร็งตับได้โดยตรง โดยไม่จำเป็นต้องผ่านการเป็นตับแข็งก่อน จึงแนะนำให้ตรวจคัดกรองมะเร็งตับในผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับเสบบีเรื้อรังร่วมกับ
- มีญาติสายตรงเป็นมะเร็งตับ
- ผู้ชายอายุมากกว่า 40 ปี หรือ ผู้หญิงอายุมากกว่า 50 ปี
- เป็นตับแข็ง
การป้องกันการติดเชื้อ
- การฉีดวัคซีน สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้มากถึง 90-100% ภายหลังการได้รับวัคซีนครบ 3 เข็ม โดยแนะนำให้ฉีดวัคซีนในผู้ใหญ่ทุกคนที่ไม่เคยติดเชื้อหรือไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสเลือด สารคัดหลั่งของผู้อื่น
- รับประทานอาหารปรุงสุกสะอาด ใช้ช้อนกลาง
- หลีกเลี่ยงเพศสัมพันธ์เสี่ยง สวมถุงยางอนามัย
References
- Global hepatitis report 2017. Geneva: World Health Organization; 2017.
- Pietro Lampertico, Kosh Agarwal, Thomas Berg, Maria Buti, Harry L.A. Janssen, George Papatheodoridis, Fabien Zoulim, Frank Tacke. EASL 2017 Clinical Practice Guidelines on the management of hepatitis B virus infection. J Hepatol. 2017 Aug;67(2):370-398.
- มณฑิรา มณีรัตนะพร, สุพจน์ นิ่มอนงค์, อวยพร เค้าสมบัติวัฒนา. Practical Gastroenterology and Hepatology. กรุงเทพฯ: พริ้นเอเบิ้ล; 2563.
- สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย. คำแนะนำการให้วัคซีนป้องกันโรค สำหรับผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ พ.ศ. 2566