ไวรัสตับอักเสบ (Hepatitis virus) ประกอบด้วยกัน 5 ชนิด ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบเอ บี ซี ดี และอี ซึ่งการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบางชนิดทำให้เกิดตับอักเสบเฉียบพลัน (Acute hepatitis) และหากการอักเสบเป็นนานมากกว่า 6 เดือน จะให้กำเกิดตับอักเสบเรื้อรัง (Chronic hepatitis) ที่อาจนำไปสู่ภาวะตับแข็งและมะเร็งตับในอนาคตได้
ไวรัสตับอักเสบเอและอี ก่อให้เกิดภาวะตับอักเสบเฉียบพลัน แต่มักไม่ก่อให้เกิดตับอักเสบเรื้อรัง ในขณะที่ไวรัสตับอักเสบบีและซี สามารถก่อให้เกิดภาวะตับอักเสบเฉียบพลันและเรื้อรังได้ อีกทั้งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดตับแข็งและมะเร็งตับ ส่วนไวรัสตับอักเสบดี เป็นไวรัสที่ไม่สมบูรณ์ จำเป็นต้องอาศัยโปรตีนของไวรัสตับอักเสบบีในการเข้าสู่เซลล์ตับและการเพิ่มจำนวนของไวรัส ดังนั้นการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบดีจึงเกิดเฉพาะกลุ่มผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเท่านั้น
ในที่นี้ผู้ประพันธ์กล่าวถึงเฉพาะไวรัสตับอักเสบเอ
การติดต่อ
ไวรัสตับอักเสบเอติดต่อผ่านทางการรับประทานอาหารและน้ำดื่มไม่สะอาด มีการปนเปื้อนของเชื้อไวรัส การสัมผัสอุจจาระที่ปนเปื้อนเชื้อแล้วเผลอนำเข้าปาก (Fecal oral route) ซึ่งการระบาดของไวรัสตับอักเสบเอพบได้ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากมาตรฐานความสะอาดและเศรษฐานะของประชากร
อาการแสดง
เมื่อติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ จะมีระยะฟักตัวอยู่ที่ 2-4 สัปดาห์ อาจนานได้ถึง 6 สัปดาห์ อาการแสดงขึ้นกับอายุของผู้ป่วย พบได้ตั้งแต่ไม่มีอาการ ไปจนถึงมีภาวะตับวายได้ โดยอาการที่พบได้บ่อยได้แก่ ไข้ (87%) ปวดเมื่อย (74%) เหลือง (62%) อาการอื่นๆ เช่น อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร ปวดท้อง ถ่ายเหลว และในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการแสดงนอกตับได้ เช่น ผื่นผิวหนัง ปวดข้อ หลอดเลือดอักเสบ ไตอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
อาการแสดงทางตับของไวรัสตับอักเสบเอพบได้ 5 รูปแบบ ดังนี้
- ไม่มีอาการผิดปกติใดๆ (Asymptomatic) กล่าวคือเมื่อมีการติดเชื้อ ร่างกายสามารถกำจัดเชื้อและหายเองได้ มักพบในผู้ป่วยเด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปี
- มีภาวะตับอักเสบและเหลือง (Symptomatic with jaundice) แต่ร่างกายมักกำจัดเชื้อและหายเองได้ภายในระยะเวลา 8 สัปดาห์ มักพบในผู้ป่วยอายุ 5 ปีขึ้นไป
- มีภาวะตับอักเสบและมีการคั่งของน้ำดี (Cholestatic jaundice) ทำให้เหลืองได้นานกว่า 10 สัปดาห์ ผู้ป่วยอาจำมีอาการคันตามตัว ปัสสาวะสีเข้ม น้ำหนักลดร่วมด้วยได้
- มีอาการกลับเป็นซ้ำหลังจากที่หายจากอาการตับอักเสบครั้งแรกแล้ว (Relapsing acute hepatitis) อาการมักเกิดหลังจากการติดเชื้อครั้งแรก 6-10 สัปดาห์ บางรายอาจมีอาการกลับเป็นซ้ำมากกว่า 1 ครั้ง แต่อาการมักหายสนิทภายใน 24 สัปดาห์
- ตับวายเฉียบพลัน (Acute liver failure) พบได้น้อยมาก แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วมีอัตราการเสียชีวิตสูง โดยปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดตับวายเฉียบพลันจากไวรัสตับอักเสบเอ ได้แก่ อายุมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่อายุมากกว่า 75 ปี ผู้ที่มีโรคตับอักเสบเรื้อรังหรือตับแข็งจากสาเหตุอื่นอยู่เดิม
การวินิจฉัย
ทำได้โดยการตรวจทาง Serology เพื่อหาแอนตี้บอดี้ต่อเชื้อไวรัสตับอักเสบเอในเลือด (Anti-HAV IgM) ซึ่งให้ผลตรวจเป็นบวกตั้งแต่เมื่อมีอาการแสดง ไปจนถึง 4 เดือนภายหลังการติดเชื้อ เมื่อมีการติดเชื้อแล้วจะตรวจพบ Anti-HAV IgG ตลอดไป
ส่วนการตรวจหาไวรัส (HAV RNA) ด้วยวิธีการ Polymerase chain reaction (PCR) ใช้ในห้องปฏิบัติการเท่านั้น ไม่เป็นที่นิยมใช้ในทางคลินิก
การรักษา
การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอส่วนมากมักไม่รุนแรงและสามารถหายเองได้ การรักษาจึงเป็นการรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น รับประทานอาหารอ่อน สุกสะอาด หลีกเลี่ยงอาหารมันที่ก่อให้เกิดอาการคลื่นไส้ ให้ยาแก้อาเจียนหากมีอาการคลื่นไส้อาเจียนมาก สำหรับผู้ที่มีอาการรุนแรงควรเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เพื่อเฝ้าระวังการเกิดภาวะตับวายเฉียบพลัน
การป้องกัน
- ล้างมือบ่อยๆ เมื่อสัมผัสสิ่งแวดล้อมที่อาจมีการปนเปื้อนของเชื้อ เช่น ดิน อุจจาระ น้ำที่ไม่สะอาด
- รับประทานอาหารปรุงสุก สะอาด เนื่องจากเชื้อไวรัสตับอักเสบเอทนต่อความเย็น ความร้อนระดับปานกลาง ความแห้ง และสภาวะที่เป็นกรด
- การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ
วัคซีนไวรัสตับอักเสบเอ
เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 2 ครั้ง ห่างกันอย่างน้อย 6 เดือน โดยวัคซีนมีประสิทธิภาพในการสร้างแอนตี้บอดี้ 100% ที่ 4 สัปดาห์หลังได้วัคซีนเข็มที่ 2 กลุ่มที่แนะนำให้ฉีดวัคซีน ได้แก่
- มีความเสี่ยงจะเกิดโรครุนแรงจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ เช่น ผู้ป่วยโรคตับเรื้อรัง ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และผู้ที่อายุมากกว่า 40 ปี
- ความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอสูงกว่าประชากรทั่วไป เช่น ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย ใช้ยาเสพติด ทำงานเกี่ยวกับไวรัสตับอักเสบเอ และใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ
Reference
- Mark Feldman, Lawrence S. Friedman, Marvin H. Sleisenger. (2020). Sleisenger & Fordtran's gastrointestinal and liver disease : pathophysiology, diagnosis, management. Philadelphia :Saunders,
- มณฑิรา มณีรัตนะพร, สุพจน์ นิ่มอนงค์, อวยพร เค้าสมบัติวัฒนา. Practical Gastroenterology and Hepatology. กรุงเทพฯ: พริ้นเอเบิ้ล; 2563.
- สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย. คำแนะนำการให้วัคซีนป้องกันโรค สำหรับผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ พ.ศ. 2566