การติดเชื้อเฮลิโลแบคเตอร์ ไพโลไร

 02 Oct 2023  เปิดอ่าน 6829 ครั้ง

เชื้อเฮลิโลแบคเตอร์ ไพโลไร คืออะไร

Helicobacter pylori (H. pylori) เป็นเชื้อแบคทีเรียที่เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะไปอาศัยอยู่ในกระเพาะอาหาร (ปกติกระเพาะอาหารจะมีความเป็นกรดรุนแรงสามารถทำลายเชื้อโรคส่วนใหญ่ได้ แต่เชื้อ H. pylori นี้สามารถสร้างสารที่มีฤทธิ์ด่างรอบตัวเอง ทำให้เชื้อโรคนี้สามารถอยู่รอดได้ในสภาวะที่มีกรดรุนแรง) โดยเชื้อนี้ทำให้เกิดการอักเสบและทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหาร นำไปสู่การเกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น รวมถึงการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารได้ 

ปัจจุบันยังไม่ทราบการติดต่อของเชื้ออย่างแน่ชัด แต่เชื่อว่าติดต่อจากคนสู่คน เช่น การติดต่อในครอบครัว และจากการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม เช่น การรับประทานอาหารและน้ำที่มีการปนเปื้อนของเชื้อ H. pylori


ภาพที่ 1 แสดงการติดเชื้อ H. pylori และกลไกการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร


อาการแสดง

ส่วนมากผู้ที่ติดเชื้อ H. pylori มักไม่มีอาการแสดง แต่ในบางรายอาจมีอาการปวดท้องหรือแสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร จุกแน่น อิ่มเร็ว อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำถ่ายเป็นเลือด ซึ่งเป็นผลจากการอักเสบหรือแผลในกระเพาะอาหารได้

ภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อ H. pylori

เนื่องจากการติดเชื้อ H. pylori ทำให้เยื่อบุกระเพาะอาหารอักเสบ นำไปสู่อาการปวดท้อง อาหารไม่ย่อย จากโรคกระเพาะอาหาร (Dyspepsia) กระเพาะอาหารอักเสบ (Gastritis) อีกทั้งการเกิดการอักเสบเรื้อรังของกระเพาะอาหารจากการติดเชื้อ H. pylori ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เยื่อบุกระเพาะอาหาร (Gastric atrophy and gastric intestinal metaplasia) ซึ่งสัมพันธ์กับการเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร (Gastric adenocarcinoma) มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดหนึ่งที่เกิดบริเวณเยื่อบุ (Mucosal Associated Lymphoid tissue (MALT) Lymphoma)


ใครบ้างที่ควรตรวจหาการติดเชื้อ H. pylori 

  1. ผู้เป็นโรคแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น
  2. ผู้ที่ใช้ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Nonsteroidal anti-inflammatory drugs; NSAIDs) หรือยาแอสไพริน (Aspirin) เป็นระยะเวลานานร่วมกับมีประแผลในกระเพาะอาหาร
  3. ผู้ที่เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Marginal zone B-cell lymphoma (MALT Lymphoma)
  4. ผู้ที่มีอาการจากโรคกระเพาะอาหาร (Dyspepsia) ที่ไม่ตอบสนองต่อยาต้านการหลั่งกรด
  5. ผู้ที่มีญาติสายตรงเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร
  6. ผู้ที่เป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร


จะรู้ได้อย่างไรว่ามีการติดเชื้อ H. pylori

การวินิจฉัยการติดเชื้อ H. pylori สามารถทำได้หลายวิธี ได้แก่

  1. การส่องกล้องทางเดินอาหาร แล้วตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ (Endoscopy-based diagnosis) ทำได้โดยการส่องกล้องดูความผิดปกติของกระเพาะอาหาร และตัดชิ้นเนื้อ (Biopsy) มาตรวจว่ามีการติดเชื้อ H. pylori หรือไม่
  2. การทดสอบจากลมหายใจ (Urease breath test) โดยผู้ป่วยรับประทานสารทดสอบ (Labeled urea) จากนั้นทำการทดสอบลมหายใจ
  3. การทดสอบจากอุจจาระ (Stool antigen test) เป็นการตรวจหาแอนติเจนของเชื้อในอุจจาระ
  4. การตรวจเลือด (Serology test) เป็นการตรวจแอนตี้บอดี้ที่ร่างกายสร้างขึ้นเมื่อมีการติดเชื้อ สามารถบอกได้เพียงว่าเคยมีการสัมผัสเชื้อ ปัจจุบันไม่แนะนำให้ใช้วิธีนี้ในการทดสอบ เว้นแต่ไม่สามารถทำการทดสอบด้วยวิธีอื่นได้

ทั้งนี้ยาลดกรด ยาปฏิชีวนะ และสารประกอบบิสมัท มีผลต่อการทดสอบในวิธีที่ 1-3 ซึ่งอาจให้ผลลบลวงได้ ดังนั้นก่อนทำการทดสอบควรหยุดยาลดกรดกลุ่ม Proton pump inhibitors อย่างน้อย 2 สัปดาห์ และหยุดยาปฏิชีวนะและสารประกอบบิสมัทอย่างน้อย 4 สัปดาห์


การรักษา

สามารถรักษาการติดเชื้อ H. pylori ได้ด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะ 2-3 ชนิด ร่วมกับยาลดกรดกลุ่ม Proton pump inhibitors เป็นระยะเวลา 10-14 วัน

หลังจากสิ้นสุดการรักษาแล้วอย่างน้อย 4 สัปดาห์ แนะนำให้ตรวจยืนยันการหายของการติดเชื้อ หากพบว่ายังมีการติดเชื้ออยู่ ผู้ป่วยต้องรับการรักษาซ้ำด้วยยาสูตรอื่น รวมถึงการตรวจหาเชื้อดื้อยา

การติดเชื้อ H. pylori เป็นภาวะที่สามารถรักษาหายได้ การกำจัดเชื้อนอกจากจะเป็นการการลดการแพร่เชื้อสู่บุคคลอื่นแล้ว ยังเป็นการลดการอักเสบของกระเพาะอาหาร ลดอาการของโรคกระเพาะอาหารและภาวะแทรกซ้อน เช่น แผลในกระเพาะอาหาร และลดโอกาสเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารในอนาคตได้

References

  • Kayali S, Manfredi M, Gaiani F, Bianchi L, Bizzarri B, Leandro G, Di Mario F, De' Angelis GL. Helicobacter pylori, transmission routes and recurrence of infection: state of the art. Acta Biomed. 2018 Dec 17;89(8-S):72-76.
  • Mark Feldman, Lawrence S. Friedman, Marvin H. Sleisenger. (2020). Sleisenger & Fordtran's gastrointestinal and liver disease : pathophysiology, diagnosis, management. Philadelphia :Saunders,
  • กลุ่มวิจัยโรคกระเพาะอาหาร สมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหารแหงประเทศไทย. แนวทางเวชปฏิบัติในการวินิจฉัยและการรักษาผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter pylori) ในประเทศไทย พ.ศ. 2558. กรุงเทพฯ: บริษัท คอนเซ็พท์ เมดิคัส จํากัด; 2559.
  • มณฑิรา มณีรัตนะพร, สุพจน์ นิ่มอนงค์, อวยพร เค้าสมบัติวัฒนา. Practical Gastroenterology and Hepatology. กรุงเทพฯ: พริ้นเอเบิ้ล; 2563.


ผลการรักษา

ติดต่อเรา

คลินิกคุณหมอบั้ช

หาดใหญ่ สงขลา

เบอร์โทร

098 273 5965

ที่อยู่

688 ถ.สาครมงคล2 หาดใหญ่ สงขลา

เวลาทำการ

จันทร์ 17:00 - 20:00 น.
วันพุธ - ศุกร์ 17:00 - 20:00 น.
วันเสาร์ 13:00 - 18:00 น.
หยุดทุกวันอังคารและอาทิตย์

โรคทั่วไป ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ไข้ ไข้หวัด ไข้เรื้อรัง ไข้ไม่ทราบสาเหตุ เบื่ออาหารน้ำหนักลด ภูมิแพ้ ระบบทางเดินหายใจ ปอดติดเชื้อ หลอดลมตีบ หลอดลมอักเสบ ปวดหัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก ปวดหลัง ปวดข้อ เครียด กังวล นอนไม่หลับ ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน กรดไหลย้อน กระเพาะ ท้องผูก ท้องเสีย ลำไส้แปรปรวน ริดสีดวงทวารหนัก ดีซ่าน ตับ ตับอ่อน ตับแข็ง ไวรัสตับอักเสบ ไขมันเกาะตับ นิ่วในท่อน้ำเดิน มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งตับ มะเร็งตับอ่อน ส่องกล้องกระเพาะ ส่องกล้องลำไส้ใหญ่ ตรวจมะเร็ง ตรวจสุขภาพและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพ