โรคกระเพาะอาหาร

 16 Aug 2023  เปิดอ่าน 2805 ครั้ง

โรคกระเพาะอาหาร หรือ โรคอาหารไม่ย่อย หรือปวดท้องลิ้นปี่ (dyspepsia) เป็นภาวะทางระบบทางเดินอาหารที่พบได้บ่อย เป็นกลุ่มอาการทางระบบทางเดินอาหารส่วนบนที่มีความหลากหลาย โดยให้ความสำคัญกับสัญญาณเตือน (alarming features) ที่ต้องทำการสืบค้นเพิ่มเติม โดยเฉพาะการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน 


อาการของโรคกระเพาะอาหาร ผู้ป่วยมักมีอาการปวด แสบร้อน หรือไม่สุขสบายบริเวณลิ้นปี่ สามารถแบ่งย่อยได้เป็น 4 อย่างดังนี้

  • มีอาการอืดแน่นหลังรับประทานอาหารจนรบกวนชีวิตประจำวัน (bothersome postprandial fullness)
  • มีอาการอิ่มเร็วจนรบกวนชีวิตประจำวัน (bothersome early satiation)
  • มีอาการปวดท้องลิ้นปี่จนรบกวนชีวิตประจำวัน (bothersome epigastric pain)
  • มีอาการแสบร้อนลิ้นปี่จนรบกวนชีวิตประจำวัน (bothersome epigastric burning)


สาเหตุของอาการโรคกระเพาะอาหาร

1. แผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก 

2. กระเพาะอาหารอักเสบ

3. ติดเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพรอไล (Helicobacter pylori

4. ยาที่มีฤทธิ์ระคายเคืองกระเพาะอาหาร เช่น แอสไพริน ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาธาตุเหล็ก ยาโพแทสเซียม 

5. มะเร็งกระเพาะอาหาร 

6. โรคกระเพาะอาหารแปรปรวน (functional dyspepsia) คือ ผู้ที่ตรวจแล้วไม่พบสาเหตุที่อธิบายอาการโรคกระเพาะอาหาร

7. โรคของทางเดินน้ำดี เช่น นิ่วถุงน้ำดี 

8. โรคของตับ เช่น มะเร็งตับ 


การตรวจเพื่อวินิจฉัยชนิดของโรคกระเพาะอาหาร

การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน (Esophagogastroduodenoscopy) ควรพิจารณาทำการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบนในผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหารดังต่อไปนี้ 

  • อายุเมื่อเริ่มมีอาการโรคกระเพาะอาหารมากกว่าหรือเท่ากับ 50 ปี เนื่องจากอุบัติการณ์ของการตรวจพบมะเร็งกระเพาะอาหารในประเทศไทยสูงขึ้นชัดเจนหลังอายุ 50 ปี 
  • มีสัญญาณเตือน 
  • ภาวะเลือดออกจากทางเดินอาหารส่วนบน 
  • ภาวะซีดจากการขาดเหล็ก 
  • น้ำหนักลดโดยไม่มีสาเหตุที่อธิบายได้ 
  • อาเจียนต่อเนื่อง 
  • อาการกลืนลำบาก 
  • มีประวัติมะเร็งทางเดินอาหารส่วนบนในญาติสายตรง
  • อาการไม่ดีขึ้นหลังได้รับการรักษาที่เหมาะสม ควรได้รับการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบนเพื่อหาสาเหตุทางกายหรือประกอบการวินิจฉัยโรคกระเพาะอาหารแปรปรวนและปรับยาเพิ่มเติมอย่างเหมาะสมต่อไป


การทดสอบและรักษาการติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Test and treat Helicobacter pylori

การกำจัดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไรในผู้ป่วยที่ตรวจพบการติดเชื้อ พบว่าสามารถทำให้อาการโดยรวมของโรคกระเพาะอาหารดีขึ้น นอกเหนือไปกว่านั้นการติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไรยังสัมพันธ์กับการเกิดแผลและมะเร็งกระเพาะอาหาร เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยที่ได้รับยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์หรือแอสไพริน จึงแนะนำให้ทำการตรวจการติดเชื้อในผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหารทุกรายที่ได้รับการส่องกล้องทางเดินอาหาร (ตรวจด้วยวิธี rapid urease test หรือตรวจทาง histology) หรือตรวจด้วยวิธีเป่าลมหายใจ (urea breath test) ในผู้ป่วยที่ไม่มีสัญญาณเตือนและอาการไม่ดีขึ้นหลังได้รับการรักษาด้วยยายับยั้งการหลั่งกรดในเบื้องต้น 

การรักษาโรคกระเพาะอาหาร

การรักษามีด้วยกันหลายวิธี ส่วนหนึ่งคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรค ร่วมกับการรักษาตามสาเหตุที่วินิจฉัยพบ คือ

  • แนะนำให้รับประทานอาหารสามมื้อ ตรงเวลา รับประทานอาหารพอประมาณไม่อิ่มจนเกินไป เคี้ยว อาหารให้ละเอียด ควรเดินหลังรับประทานอาหารเพื่อช่วยให้การเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารดีขึ้น 
  • ควรหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด หมักดอง หลีกเลี่ยง แอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่เนื่องจากจะกระตุ้นให้ปวดท้อง
  • รับประทานยาตามแพทย์สั่ง หากเกิดจากเชื้อแบคทีเรียเอชไพโลไรจะได้รับยาลดกรด กับยาปฏิชีวนะ
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ พยายามควบคุมความเครียดของตนเอง หากเริ่มมีความเครียดให้ทำกิจกรรมอื่นที่ผ่อนคลาย


ปัญหาที่พบบ่อยในเวชปฏิบัติ

ปัญหาการทำการสืบค้นเพิ่มเติมในผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหารเกินความจำเป็น (over investigation) 

เนื่องจากโรคกระเพาะอาหารแปรปรวนเป็นภาวะเรื้อรังที่ไม่เป็นอันตราย แต่สามารถมีอาการกำเริบหรือกลับเป็นซ้ำเป็นระยะ ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและนำมาซึ่งการใช้ทรัพยากรทางด้านสุขภาพเป็นอย่างมาก การสืบค้นเพิ่มเติมโดยไม่จำเป็นอาทิเช่น การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องท้อง หรือการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบนซ้ำในระยะเวลา 3 ปี นอกจากจะไม่ได้ประโยชน์เพิ่มแล้วอาจทำให้ผู้ป่วยมีความวิตกกังวลกับอาการที่เป็นอยู่มากขึ้น การตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องอาจพิจารณาทำได้ในผู้ป่วยที่สงสัยอาการจากนิ่วในถุงน้ำดีซึ่งบางครั้งแยกกันยากกับอาการโรคกระเพาะอาหาร

ปัญหาการส่งผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัดช่องท้องโดยไม่จำเป็น (inappropriate referral for abdominal surgery)

การตรวจพบนิ่วในถุงน้ำดี พบได้บ่อยในผู้ป่วยที่มีอาการโรคกระเพาะอาหาร ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นสาเหตุของการปวดท้องของผู้ป่วย บ่อยครั้งที่แพทย์ขาดความเข้าใจและส่งต่อผู้ป่วยเพื่อรับการผ่าตัด ซึ่งนอกจากจะไม่ทำให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้นแล้ว ผู้ป่วยยังอาจได้รับภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดอีกด้วย แพทย์จึงควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคกระเพาะอาหารเป็นอย่างดี เพื่อป้องกันและลดการสืบค้นเพิ่มเติมที่เกินความจำเป็น อันจะนำไปสู่การส่งต่อผู้ป่วยเพื่อรับการรักษาที่ไม่เหมาะสมต่อไป


การดูแลผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหารในทางเวชปฏิบัติมีข้อแนะนำและข้อควรระวังที่สำคัญเป็นอันมาก ได้แก่

  • การให้ความสำคัญกับอาการที่เข้าได้กับเกณฑ์การวินิจฉัย
  • การพยายามมองหาสัญญาณอันตรายและให้การสืบค้นเพิ่มเติมตามความเหมาะสม
  • การให้ยารักษาตามหลักฐานเชิงประจักษ์และหยุดยาเมื่อไม่จำเป็นโดยเฉพาะยายับยั้งการหลั่งกรด
  • ทั้งนี้การประเมินและรักษาโดยผู้เชี่ยวชาญมีความรักษาอย่างยิ่ง เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการสืบค้นโรคและรักษาได้อย่างตรงจุด


เอกสารอ้างอิง 

- Stanghellini V, Chan FK, Hasler WL, et al. Gastroduodenal disorders. Gastroenterology 2016; 150:1380-92.

- Sugano K, Tack J, Kuipers EJ, et al. Kyoto global consensus report on Helicobacter pylori gastritis. Gut 2015; 64:1353-67.

- Horowitz N, Moshkowitz M, Leshno M, et al. Clinical trial: evaluation of a clinical decision-support model for upper abdominal complaints in primary-care practice. Aliment Pharmacol Ther 2007; 26:1277-83.

- Luman W, Adams WH, Nixon SN, et al. Indidence of persistent symptoms after laparoscopic cholecystectomy: a prospective study. Gut 1996; 39:863-6.

ผลการรักษา

ติดต่อเรา

คลินิกคุณหมอบั้ช

หาดใหญ่ สงขลา

เบอร์โทร

098 273 5965

ที่อยู่

688 ถ.สาครมงคล2 หาดใหญ่ สงขลา

เวลาทำการ

จันทร์ 17:00 - 20:00 น.
วันพุธ - ศุกร์ 17:00 - 20:00 น.
วันเสาร์ 13:00 - 18:00 น.
หยุดทุกวันอังคารและอาทิตย์

โรคทั่วไป ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ไข้ ไข้หวัด ไข้เรื้อรัง ไข้ไม่ทราบสาเหตุ เบื่ออาหารน้ำหนักลด ภูมิแพ้ ระบบทางเดินหายใจ ปอดติดเชื้อ หลอดลมตีบ หลอดลมอักเสบ ปวดหัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก ปวดหลัง ปวดข้อ เครียด กังวล นอนไม่หลับ ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน กรดไหลย้อน กระเพาะ ท้องผูก ท้องเสีย ลำไส้แปรปรวน ริดสีดวงทวารหนัก ดีซ่าน ตับ ตับอ่อน ตับแข็ง ไวรัสตับอักเสบ ไขมันเกาะตับ นิ่วในท่อน้ำเดิน มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งตับ มะเร็งตับอ่อน ส่องกล้องกระเพาะ ส่องกล้องลำไส้ใหญ่ ตรวจมะเร็ง ตรวจสุขภาพและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพ