โรคตับแข็ง

 16 Aug 2023  เปิดอ่าน 2318 ครั้ง

บทนำ

ตับแข็ง (cirrhosis) เป็นภาวะโรคตับเรื้อรังขั้นสุดท้ายอันเกิดจากการอักเสบเรื้อรังทั่วทั้งตับและเกิดการซ่อมแซมของเซลล์ตับเป็นเวลานาน ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างขึ้น เกิดพังผืด (fibrosis) ร่วมกับ micro- หรือ macronodule ขึ้น ภาวะดังกล่าวส่งผลให้การทำงานของตับลดลง ร่วมกับเกิดการบิดเบี้ยวทางโครงสร้างเซลล์ตับทำให้ระบบเลือดที่เลี้ยงตับผิดปกติ และส่งผลให้เกิดภาวะความดันพอร์ทัลสูง (portal hypertension) 

ภาวะตับแข็งแม้ว่าเกิดจากสาเหตุเริ่มต้นแตกต่างกันไป แต่นำไปสู่ผลลัพธ์ขั้นสุดท้ายในแบบเดียวกัน ในทางคลินิกสามารถแบ่งผู้ป่วยตับแข็งได้เป็น 2 ระยะ คือ ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ และผู้ป่วยที่มีอาการแสดงของตับแข็ง ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการแทรกซ้อนจากตับแข็ง ได้แก่ เส้นเลือดขอดในหลอดอาหาร ท้องมาน ดีซ่าน hepatic encephalopathy มะเร็งตับ

การวินิจฉัย 

 ตับแข็ง เป็นนิยามทางพยาธิวิทยาดังนั้น การวินิจฉัยที่ดีที่สุดคือ เจาะชิ้นเนื้อตับ เพื่อส่งพยาธิวิทยา แต่ไม่จำเป็นเสมอไป เนื่องจากเป็นวิธีการที่มีความเสี่ยงและมีค่าใช้จ่ายสูง และอาจมีความผิดพลาดในการแปลผล จึงไม่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน 

ภาพที่ 1. แสดงตับปกติและภาวะตับแข็ง

ทั้งนี้ในปัจจุบันการวินิจฉัย ใช้การประเมินหลาย ๆ อย่างร่วมกันคือ 

  1. ปัจจัยเสี่ยง เช่น ไวรัสตับอักเสบบีและซี แอลกอฮอล์ ภาวะไขมันพอกตับ เป็นต้น
  2. การตรวจร่างกายพบลักษณะของโรคตับเรื้อรังร่วมกับภาวะความดันพอร์ทัลสูงที่เข้าได้กับตัวโรค
  3. การเจาะเลือดพบหลักฐานของการทำงานของตับลดลง แต่มีข้อจำกัดคือไม่สามารถตรวจพบความผิดปกตินี้ในผู้ป่วยโรคตับแข็งระยะแรกได้
  4. ผลการตรวจทางรังสีเข้าได้กับภาวะตับแข็ง 
  5. การตรวจความยืดหยุ่นของตับ


การดำเนินโรคของผู้ป่วยตับแข็ง 

ผู้ป่วยระยะแรกจะไม่มีอาการชัดเจน ซึ่งถ้ายังมีการสูญเสียของเซลล์ตับอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของตับที่แย่ลงกลายเป็นระยะที่มีอาการแสดงของตับแข็ง ซึ่งจะเกิดภาวะแทรกซ้อนและเสียชีวิตในที่สุด

ภาวะแทรกซ้อน มีดังนี้

  • ภาวะท้องมานหรือน้ำในช่องท้อง และการติดเชื้อของน้ำในช่องท้อง 
  • ภาวะเลือดออกจากเส้นเลือดขอดในหลอดอาหารและกระเพาะอาหารแตก 
  • ภาวะไตวายจากโรคตับแข็ง 
  • มะเร็งตับ 

การดูแลผู้ป่วยตับแข็ง

การดูแลทั่วไป

สิ่งสำคัญในการรักษาผู้ป่วยตับแข็ง คือ การวินิจฉัยที่แม่นยำ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ และการให้ผู้ป่วยเข้าใจถึงตัวโรคว่าโรคตับแข็ง คือ โรคตับที่รุนแรง มีโอกาสเสียชีวิตสูง แต่อย่างไรก็ตามโรคตับแข็งมีหลายระยะและมีการดำเนินโรคไปเร็วมากหากไม่ปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม สิ่งที่ควรปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยตับแข็งทุกรายคือ

  1. การหาสาเหตุของตับแข็ง เพื่อการรักษาที่เหมาะสมจะช่วยชะลอความเสียหายต่อเซลล์ตับได้ ซึ่งจะกล่าวต่อไป
  2. ประเมินระยะของตับแข็ง เพื่อดูว่าผู้ป่วยมีภาวะความดันพอร์ทัลสูงหรือไม่ และเข้าสู่ระยะที่มีอาการแสดงของตับแข็งแล้วหรือไม่ การประเมินอาจต้องมีการตรวจเพิ่มเติม เช่น การตรวจความยืดหยุ่นตับ การส่องกล้องเพื่อดูเส้นเลือดขอด การอัลตราซาวน์เพื่อดูท้องมาน
  3. ควรได้รับการตรวจภูมิคุ้มกันต่อไวรัสตับอักเสบเอและบี หากผู้ป่วยยังไม่มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสดังกล่าว ควรได้รับการฉีดวัคซีน
  4. การตรวจคัดกรองหามะเร็งตับปฐมภูมิ โดยผู้ป่วยตับแข็งทุกราย ควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งตับด้วยการอัลตราซาวน์ทุก 6 เดือน โดยอาจร่วมกับการตรวจระดับอัลฟ่าฟีโตโปรตีนในเลือด 
  5. การออกกำลังกาย ผู้ป่วยตับแข็งสามารถออกกำลังกายได้ตามปกติ แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะความดันพอร์ทัลสูงและมีเส้นเลือดขอด ควรงดการออกกำลังกายประเภทที่ทำให้ต้องออกแรงเบ่งหรือการยกน้ำหนัก เนื่องจากกิจกรรมดังกล่าวอาจเพิ่มความดันในช่องท้อง อันส่งผลให้เส้นเลือดขอดแตกได้

ภาวะโภชนาการและโภชนบำบัดในผู้ป่วยโรคตับแข็ง 

ผู้ป่วยโรคตับแข็งควรได้รับพลังงานประมาณ 35-40 กิโลแคลอรี่ต่อน้ำหนัก 1 กก. ต่อวัน และมีโปรตีนอยู่อย่างน้อย 1.2-1.5 กรัมต่อน้ำหนัก 1 กก. ต่อวัน และเนื่องจากผู้ป่วยโรคตับแข็งมีความสามารถในการสะสมพลังงานในตับได้น้อย ผู้ป่วยโรคตับแข็งจึงควรรับประทานบ่อยมื้อ กล่าวคือ 4-7 ครั้งต่อวัน โดยควรรับประทานคาร์โบไฮเดรตเป็นพลังงานหลักในมื้อก่อนนอน การได้รับโภชนบำบัดจะทำให้ผู้ป่วยมีภาวะโภชนาการที่ดีขึ้น การทำงานของตับดีขึ้น เพิ่มมวลกล้ามเนื้อและลดการสันดาษไขมันและโปรตีน ลดการเกิดภาวะแทรกซ้อน 

ข้อมูลยืนยันการใช้กรดอะมิโน (หน่วยย่อยของโปรตีน) ที่มีโครงสร้างโมเลกุลมีกิ่งก้าน (branched-chain amino acid) ลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคตับแข็ง เพิ่มปริมาณอัลบูมินในเลือด โดยแนะนำให้กินเสริมมื้อก่อนนอน 

ส่วนการใช้อาหารเสริมอื่น ๆ ยังไม่มีข้อมูลมากพอในปัจจุบัน


การรักษาเพื่อลดพังผืดในผู้ป่วยโรคตับแข็ง โดยพิจารณารักษาตามสาเหตุของโรคตับแข็ง

  1. โรคไวรัสตับอักเสบบีและซีมี ข้อมูลยืนยันว่ายากลุ่ม interferon สามารถลดพังผืดตับและอัตราการเกิดมะเร็งตับปฐมภูมิในผู้ป่วยตับแข็งจากไวรัสตับอักเสบได้
  2. แอลกอฮอล์ การรักษาหลักคือ การหยุดแอลกอฮอล์ ซึ่งมีข้อมูลยืนยันว่าสามารถลดพังผืดตับ,
  3. ลดความดันพอร์ทัล, และอัตราการเสียชีวิตได้ 
  4. ไขมันพอกตับ การรักษาหลัก คือ การลดน้ำหนักสามารถลดไขมันพอกตับ การอักเสบของตับ และพังผืดตับได้ ดังนั้นการรักษาแรกในผู้ป่วยกลุ่มนี้คือการลดน้ำหนัก ทั้งในแง่ของการควบคุมอาหารและการออกกำลังกาย ควรลดน้ำหนักอย่างน้อยร้อยละ 7-10 จากน้ำหนักตัวเดิม

การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยโรคตับแข็ง

ผู้ป่วยโรคตับแข็งควรปฏิบัติตัวดังนี้

  • ทำความเข้าใจเกี่ยวกับตัวโรคที่เป็นอยู่ ผู้ป่วยโรคตับแข็งนั้นสามารถมีชีวิตอยู่ได้เหมือนคนปกติ
  • ดูแลรักษาสุขอนามัยประจำตัวให้ดีอย่างสม่ำเสมอ
  • อาหารที่แนะนำให้รับประทาน มีดังนี้ 
  • โปรตีน แนะนำให้เป็นโปรตีนจากปลา ไก่ เนื้อหมูไม่ติดมันและจากพืช 
  • คาร์โบไฮเดรต ได้จากข้าว แป้ง ขนมปัง อย่างเพียงพอเพื่อให้พลังงานกับร่างกาย
  • ไขมัน อาหารควรปรุงด้วยไขมันที่เหมาะสม เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันดอกคำฝอย เป็นต้น
  • วิตามิน สามารถได้รับจากผักผลไม้ที่สะอาด ส่วนวิตามินบางชนิด เช่น วิตามินดี หรือแคลเซียม จะให้ในผู้ที่เคยมีประวัติเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุน เช่น สูบบุหรี่ หรือให้ในผู้ที่เคยมีประวัติกระดูกหักมาก่อน เท่านั้น
  • ทั้งนี้เนื่องจากผู้ป่วยตับแข็งมักจะรับประทานอาหารได้น้อย อาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีภาวะทุพโภชนาการ และเมื่อถึงจุดหนึ่งร่างกายจะใช้โปรตีนจากกล้ามเนื้อตัวเองเป็นแหล่งพลังงานและเกิดภาวะพร่องมวลกล้ามเนื้อในที่สุด ดังนั้นผู้ป่วยควรรับประทานบ่อยมื้อ กล่าวคือ 4-7 ครั้งต่อวัน โดยควรรับประทานคาร์โบไฮเดรตเป็นพลังงานหลักในมื้อก่อนนอน
  • งดดื่มแอลกอฮอล์ ยาดองเหล้าทุกชนิดอย่างเด็ดขาด
  • งดอาหารเสริมตามท้องตลาดทุกชนิด
  • งดสมุนไพร ยาหม้อ ยาต้ม ยาฝุ่น ยาผง ยาฝน ทุกชนิด
  • ผู้ป่วยโรคตับแข็งควรได้รับการตรวจอัลตราซาวด์และสารมะเร็งตับทุก 6 เดือน เพื่อเฝ้าระวังการเกิดมะเร็งตับระยะเริ่มต้น และควรติดตามนัดและรับประทานยาตามคำแนะนำของแพทย์


#ตับแข็ง, #ตับอักเสบ, #ไวรัสตับอักเสบ, #แอลกอฮอล์, #เหล้า, #โปรตีนบำรุงตับ, #ท้องมาน, #เส้นเลือดขอดในหลอดอาหาร, #เส้นเลือดขอดในกระเพาะอาหาร, #มะเร็งตับ 


เอกสารอ้างอิง

- Suk KT, Baik SK, Yoon JH, et al. Revision and update on clinical practice guideline for liver cirrhosis. Korean J Hepatol. 2012;18:1-21.

- แทนวันดี ท. Cirrhosis, Clinical Practice in Gastroenterology 3rd edition. 2014: 441-55.

- Garcia-Tsao G, Abraldes JG, Berzigotti A, Bosch J. Portal hypertensive bleeding in cirrhosis: Risk stratification, diagnosis, and management: 2016 practice guidance by the American Association for the study of liver diseases. Hepatology. 2017;65:310-35

ผลการรักษา

ติดต่อเรา

คลินิกคุณหมอบั้ช

หาดใหญ่ สงขลา

เบอร์โทร

098 273 5965

ที่อยู่

688 ถ.สาครมงคล2 หาดใหญ่ สงขลา

เวลาทำการ

จันทร์ 17:00 - 20:00 น.
วันพุธ - ศุกร์ 17:00 - 20:00 น.
วันเสาร์ 13:00 - 18:00 น.
หยุดทุกวันอังคารและอาทิตย์

โรคทั่วไป ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ไข้ ไข้หวัด ไข้เรื้อรัง ไข้ไม่ทราบสาเหตุ เบื่ออาหารน้ำหนักลด ภูมิแพ้ ระบบทางเดินหายใจ ปอดติดเชื้อ หลอดลมตีบ หลอดลมอักเสบ ปวดหัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก ปวดหลัง ปวดข้อ เครียด กังวล นอนไม่หลับ ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน กรดไหลย้อน กระเพาะ ท้องผูก ท้องเสีย ลำไส้แปรปรวน ริดสีดวงทวารหนัก ดีซ่าน ตับ ตับอ่อน ตับแข็ง ไวรัสตับอักเสบ ไขมันเกาะตับ นิ่วในท่อน้ำเดิน มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งตับ มะเร็งตับอ่อน ส่องกล้องกระเพาะ ส่องกล้องลำไส้ใหญ่ ตรวจมะเร็ง ตรวจสุขภาพและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพ