โรคแผลในกระเพาะอาหาร

 03 Oct 2023  เปิดอ่าน 8530 ครั้ง

โรคแผลในกระเพาะอาหารเป็นหนึ่งในอาการทางระบบทางเดินอาหารที่พบบ่อยมากในปัจจุบันและมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น

ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการปวดแสบท้องบริเวณลิ้นปี่ที่ดีขึ้นเมื่อรับประทานอาหารหรือยาลดกรด

รวมถึงอาการจุกแน่น เรอบ่อย เป็นอาการที่ไม่ควรมองข้าม

ทั้งนี้โรคแผลในกระเพาะอาหารเป็นโรคที่ไม่ควรมองข้าม

หากปล่อยไว้นอกจากจะรบกวนคุณภาพชีวิตแล้ว

อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อน เช่น แผลเลือดออก แผลกระเพาะอาหารทะลุได้

โรคแผลในกระเพาะอาหารคืออะไร

โรคแผลในกระเพาะอาหาร (Peptic ulcer disease; PUD) คือโรคที่มีแผลเกิดขึ้นในกระเพาะอาหารและ/หรือลำไส้เล็กส่วนต้น

สาเหตุของการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร

การเกิดแผลในกระเพาะอาหารเป็นผลมาจากความไม่สมดุลระหว่างปัจจัยทำลาย (Aggressive factors) เช่น การสูบบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กับปัจจัยป้องกัน (Protective factors) ในกระเพาะอาหาร โดยสาเหุตที่พบบ่อย ได้แก่ การติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter pylori; H. pylori) การใช้ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Nonsteroidal anti-inflammatory drugs; NSAIDs) หรือยาแอสไพริน (Aspirin) เป็นระยะเวลานาน ส่วนสาเหตุอื่นๆที่พบได้น้อย คือ เนื้องอกแกสตริโนมา (Gastrinoma) ในกลุ่มอาการโซลลิงเจอร์-เอลลิสัน (Zollinger-Ellison syndrome) การติดเชื้อไวรัส เช่น เชื้อไซโตเมกาโลไวรัสหรือเชื้อซีเอ็มวี (Cytomegalovirus; CMV)

สำหรับการติดเชื้อ H. pylori เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดในปัจจุบัน เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะไปอาศัยอยู่ในกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดการอักเสบและทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหาร นำไปสู่การเกิดแผลในกระเพาะอาหาร

ส่วนการรับประทานยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์หรือยาแอสไพริน ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารจากการที่ยาไปทำลายปัจจัยป้องกันของเยื่อบุกระเพาะอาหาร ดังนั้นผู้ที่ใช้ยากลุ่มนี้เป็นประจำหรือใช้เป็นระยะเวลานาน อาจะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้


รูปที่ 1 แสดงสาเหตุของการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร

(ภาพจากสมาคมแพทย์ทางเดินอาหารแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา; American Gastroenterology Association)


อาการแสดง

ผู้ป่วยส่วนมากมักมีอาการปวดท้องบริเวณลิ้นปี่ อาการปวดมักสัมพันธ์กับความหิว มักเกิดในช่วงกลางคืน และอาการดีขึ้นเมื่อรับประทานอาหารหรือยาลดกรด แต่ในบางรายอาจมีอาหารปวดท้องเมื่อรับประทานอาหารได้เช่นกัน นอกจากนี้อาจมีอาการแน่นท้อง เรอบ่อย อิ่มเร็ว เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน แสบร้อนกลางอกได้เช่นกัน

ในผู้สูงอายุบางรายอาจไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย แต่อาจมาด้วยภาวะแทรกซ้อนจากตัวโรค เช่น แผลเลือดออก แผลทะลุ ทางเดินอาหารตีบแคบ

ในรายที่มาด้วยอาการของแผลเลือดออก อาจมีอาการอาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำหรือถ่ายเป็นเลือด สัญญาณชีพเปลี่ยนแปลง ขึ้นกับความรุนแรงของเลือดที่ออก



รูปที่ 2 แสดงความรุนแรงของแผลในกระเพาะอาหารจำแนกตาม Forrest Classification



การวินิจฉัย

การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น (Esophagogastroduodenoscopy; EGD) เป็นวิธีการวินิจฉัยมาตรฐานในปัจจุบัน สามารถประเมินแผล ตัดชิ้นเนื้อไปตรวจเพื่อหาสาเหตุการเกิดแผลเพิ่มเติมได้ เช่น การติดเชื้อ H. pylori วินิจฉัยโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ยังสามารถทำการรักษาภาวะแทรกซ้อนบางอย่างของแผลที่พบขณะส่องกล้องทางเดินอาหารได้ เช่น การห้ามเลือดผ่านการส่องกล้อง


การรักษา

1.การใช้ยารักษาแผล

  • ยาลดการหลั่งกรด (Antisecretory agents) เช่น ยากลุ่ม Proton pump inhibitors (PPIs) ยากลุ่ม H2 receptor antagonists (H2Ras) โดยระยะเวลาในการรับประทานยา 4-8 สัปดาห์ ขึ้นกับลักษณะแผลที่ตรวจพบจากการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น
  • ยาเสริมสร้างความแข็งแรงของเยื่อบุกระเพาะอาหาร (Mucosal protective agents) เช่น ยาซูคราลเฟต (Sucralfate) สารประกอบบิสมัท (Bismuth salts)
  • ยาลดกรด (Antacids) โดยทั่วไปไม่ได้ใช้เป็นยาหลักในการรักษาแผล แต่ใช้เป็นยาร่วมช่วยบรรเทาอาการปวดท้องลิ้นปี่

2.การกำจัดสาเหตุของแผล และการป้องกันการกลับเป็นซ้ำ

  • การรักษาการติดเชื้อ H. pylori หากตรวจพบว่ามีการติดเชื้อ โดยรับประทานยาปฏิชีวนะร่วมกับยาลดกรดตามแพทย์สั่ง
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) หรือยาแอสไพรินเป็นประจำ แต่ในกรณีที่มีข้อบ่งชี้ในการใช้ยากลุ่มนี้เป็นระยะเวลานานเพื่อรักษาโรคอื่น เช่น ภาวะทางหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง พิจารณาให้ร่วมกับยาลดการหลั่งกรด เพื่อลดอัตราการเกิดแผลกลับเป็นซ้ำ

3.การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

  • ล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหาร รับประทานอาหารและน้ำที่สะอาด เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ H. pylori
  • รับประทานอาหารที่ย่อยง่าย ปริมาณน้อย ไม่ควรรับประทานให้อิ่มจนเกินไปในแต่ละมื้อ
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาหารรสจัด หมักดอง และงดสูบบุหรี่ เนื่องจากกระตุ้นให้มีการหลั่งกรดมากขึ้น ทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหาร นำไปสู่อาการปวดท้องและการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่เครียด พักผ่อนให้เพียงพอ 


กล่าวโดยสรุป โรคแผลในกระเพาะอาหารเกิดจากเยื่อบุกระเพาะอาหารอักเสบและถูกทำลาย นำไปสู่อาการปวดแสบท้องบริเวณลิ้นปี่ และภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น แผลเลือดออก แผลทะลุ ทางเดินอาหารตีบแคบได้ สามารถตรวจวินิจฉัยได้โดยการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น ซึ่งสาเหตุของโรคแผลในกระเพาะอาหารที่พบได้บ่อย ได้แก่ การติดเชื้อ H. pylori และการใช้ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์หรือยาแอสไพริน ซึ่งเป็นสาเหตุที่สามารถรักษาและป้องกันได้ ร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เหมาะสม


References

  • Mark Feldman, Lawrence S. Friedman, Marvin H. Sleisenger. (2020). Sleisenger & Fordtran's gastrointestinal and liver disease : pathophysiology, diagnosis, management. Philadelphia :Saunders,
  • Yegen BC. Lifestyle and Peptic Ulcer Disease. Curr Pharm Des. 2018;24(18):2034-2040. 
  • มณฑิรา มณีรัตนะพร, สุพจน์ นิ่มอนงค์, อวยพร เค้าสมบัติวัฒนา. Practical Gastroenterology and Hepatology. กรุงเทพฯ: พริ้นเอเบิ้ล; 2563.

ผลการรักษา

ติดต่อเรา

คลินิกคุณหมอบั้ช

หาดใหญ่ สงขลา

เบอร์โทร

098 273 5965

ที่อยู่

688 ถ.สาครมงคล2 หาดใหญ่ สงขลา

เวลาทำการ

จันทร์ 17:00 - 20:00 น.
วันพุธ - ศุกร์ 17:00 - 20:00 น.
วันเสาร์ 13:00 - 18:00 น.
หยุดทุกวันอังคารและอาทิตย์

โรคทั่วไป ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ไข้ ไข้หวัด ไข้เรื้อรัง ไข้ไม่ทราบสาเหตุ เบื่ออาหารน้ำหนักลด ภูมิแพ้ ระบบทางเดินหายใจ ปอดติดเชื้อ หลอดลมตีบ หลอดลมอักเสบ ปวดหัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก ปวดหลัง ปวดข้อ เครียด กังวล นอนไม่หลับ ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน กรดไหลย้อน กระเพาะ ท้องผูก ท้องเสีย ลำไส้แปรปรวน ริดสีดวงทวารหนัก ดีซ่าน ตับ ตับอ่อน ตับแข็ง ไวรัสตับอักเสบ ไขมันเกาะตับ นิ่วในท่อน้ำเดิน มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งตับ มะเร็งตับอ่อน ส่องกล้องกระเพาะ ส่องกล้องลำไส้ใหญ่ ตรวจมะเร็ง ตรวจสุขภาพและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพ