ไวรัสตับอักเสบซี (Hepatitis C Virus)

 18 Feb 2024  เปิดอ่าน 5849 ครั้ง

ไวรัสตับอักเสบซีถูกค้นพบเมื่อปี พ.ศ.2532 ปัจจุบันความชุกของโรคในประเทศไทยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 1-2 ซึ่งการติดต่อสำคัญทางการการรับเลือดหรือส่วนประกอบของเลือดก่อนที่จะมีการคัดกรองไวรัสตับอักเสบซีในเลือด สามารถก่อให้เกิดภาวะตับอักเสบเฉียบพลันและเรื้อรังได้ อีกทั้งยังเป็นความเสี่ยงหลักต่อการเกิดภาวะตับแข็ง (Cirrhosis) และมะเร็งตับ (Hepatocellular carcinoma)

รูปภาพเชื้อไวรัสตับอักเสบซี


การติดต่อ

ไวรัสตับอักเสบซีติดต่อผ่านทางเลือดเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการรับเลือด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก่อนปี พ.ศ. 2535 เนื่องจากยังไม่มีการตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบซีในเลือด การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน นอกจากนี้ไวรัสตับอักเสบซียังสามารถติดต่อได้ทางการมีเพศสัมพันธ์และติดต่อจากแม่สู่ลูกขณะคลอด แต่ก็พบการติดเชื้อผ่านช่องทางนี้ได้น้อย และไวรัสตับอักเสบซีไม่ติดต่อผ่านการรับประทานอาหารร่วมกัน


อาการแสดง

ไวรัสตับอักเสบซีก่อให้เกิดโรคใน 2 รูปแบบ ได้แก่ ตับอักเสบเฉียบพลัน และตับอักเสบเรื้อรัง แต่ผู้ป่วยส่วนมากมักไม่มีอาการ มีเพียงส่วนน้อยที่มีอาการ ซึ่งเป็นอาการที่ไม่จำเพาะเจาะจง เช่น อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ปวดเมื่อย เบื่ออาหาร เหลือง ทำให้การวินิจฉัยโรคจากอาการทำได้ยาก มักตรวจเจอจากการพบค่าการทำงานของตับผิดปกติ

ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีแบบเฉียบพลัน 30-50% สามารถกำจัดเชื้อไวรัสเองได้ ส่วนที่เหลือการดำเนินโรคจะเข้าสู่ระยะเรื้อรัง ซึ่งก็มักไม่มีอาการจากการติดเชื้อจนกว่าตัวโรคจะเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ตับอักเสบ ตับแข็ง มะเร็งตับ จึงมีอาการแสดงจากภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ได้

นอกจากนี้ไวรัสตับอักเสบซีสามารถก่อให้เกิดอาการแสดงนอกตับ และนำไปสู่การเกิดโรคอื่นๆได้ เช่น ต่อมไทรอยด์อักเสบ (Autoimmune thyroiditis) มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (B-cell non-Hodgkin lymphoma) ภาวะไครโอโกลบูลินในเลือดสูง (Mixed cryoglobulinemia) โรคพอร์ไฟเรีย (Porphyria cutanea tarda) เป็นต้น

ภาพแสดงการดำเนินโรคเมื่อติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี

(ภาพจากเอกสารประกอบการบรรยายงานประชุมวิชาการ GI Survival Guide for Interns & Medical Students 2021

โดย นพ.ศุภพัชญ ศรีภูษณาพรรณ)



การวินิจฉัย

สามารถตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีได้โดยส่งตรวจ anti-HCV ในเลือด ซึ่งบ่งบอกถึง เคยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีมาก่อน แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าการติดเชื้อนั้นเป็นแบบเฉียบพลัน เรื้อรัง หรือหายจากการติดเชื้อแล้ว

ในผู้ที่ตรวจพบ anti-HCV ให้ผลบวก ต้องทำการตรวจหาเชื้อไวรัส เพื่อยืนยันการติดเชื้อ โดยการตรวจ HCV RNA Viral load หรือ HCV Ag ซึ่งการตรวจ HCV RNA Viral load เป็นที่นิยมมากกว่า เนื่องจากมีความไวสูงกว่าการตรวจ HCV Ag

นอกจากนี้อาจมีการตรวจสายพันธุ์ของไวรัสตับอักเสบซี (Genotype) เพิ่มเติมในผู้ป่วยบางรายที่เคยได้รับการรักษาแล้วไม่ได้ผล หรือยาที่มีใช้ไม่ครอบคลุมต่อเชื้อไวรัสทุกสายพันธุ์


ใครบ้างที่ควรตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี

  1. กลุ่มประชากรที่มีพฤติกรรมความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี
  • ผู้เสพยาเสพติดโดยใช้เข็มฉีดยาและเสพผ่านทางการสูดดม
  • ผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย 

2. กลุ่มประชากรที่มีโอกาสสัมผัสเชื้อไวรัสตับอักเสบซี

  • บุคลากรทางการแพทย์ 
  • ผู้ป่วยที่ได้รับส่วนประกอบของเลือดหรือได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะก่อนปี พ.ศ. 2535 
  • ผู้ป่วยไตวายที่ได้การฟอกโลหิต 
  • บุคคลที่เกิดจากมารดาที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี 
  • บุคคลที่เคยติดคุก 
  • บุคคลที่เคยใช้อุปกรณ์ที่มีโอกาสสัมผัสกับเลือด หรือสารคัดหลั่งร่วมกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี 

3. กลุ่มประชากรอื่นๆที่มีโอกาสติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี

  • ผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวีและหรือติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี
  • ผู้ป่วยที่มีโรคตับแข็งหรือตับอักเสบเรื้อรังที่ไม่ทราบสาเหตุ
  • ผู้ป่วยที่มาอาการแสดงนอกตับของไวรัสตับอักเสบซี 


การตรวจเพิ่มเติมเมื่อยืนยันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี

  1. ตรวจเลือดเพื่อดูค่าการทำงานของตับ (Liver function test) ค่าเม็ดเลือด (Complete blood count) การแข็งตัวของเลือด (Coagulogram)
  2. ตรวจหาการติดเชื้อไวรัสที่อาจพบร่วมกับการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี เช่น ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบเอ เอชไอวี
  3. อัลตราซาวด์ตับ
  4. ประเมินความรุนแรงของพังผืดในเนื้อตับ


การรักษา

ปัจจุบันการรักษาไวรัสตับอักเสบซีได้ผลดีและมีอัตราการหายสูงมาก จึงแนะนำให้ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซีทุกรายเข้ารับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส (Direct-acting antiviral agents; DAAs) เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 12 สัปดาห์ โดยเป้าหมายของการรักษา คือ หายขาดจากการมีไวรัสตับอักเสบซีอย่างถาวร ป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากไวรัสตับอักเสบซี เช่น ตับแข็งหรือมะเร็งตับ 


การตรวจคัดกรองมะเร็งตับ

ไวรัสตับอักเสบซีเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดตับแข็งและมะเร็งตับ แม้การรักษาไวรัสตับอักเสบซีหาย (Sustained virologic response; SVR) เป็นการลดการเกิดตับแข็งและมะเร็งตับ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีพังผืดตับชนิดรุนแรง การรักษาไวรัสตับอักเสบซีหายขาดสามารถป้องกันโรคมะเร็งตับได้ แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยมีพังผืดตับระดับรุนแรงการรักษาไวรัสตับอักเสบซีหายขาดมีผลลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งตับ ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ก็ยังมีโอกาสการเกิดมะเร็งตับ จึงแนะนำให้ตรวจคัดกรองมะเร็งตับทุก 6 เดือน

ดังนั้นการตรวจพบโรคไวรัสตับอักเสบซีและรักษาโรคให้หายขาดตั้งแต่ระยะเริ่มต้นมีความสำคัญมาก เนื่องจากนอกจากจะป้องกันการเกิดตับแข็งแล้วยังป้องกันการเกิดมะเร็งตับได้อย่างครบถ้วน


การป้องกัน

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนสำหรับป้องกันไวรัสตับอักเสบซี อีกทั้งผู้ที่เคยหายจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีแล้วก็ยังมีโอกาสเป็นซ้ำจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีสายพันธุ์อื่น ดังนั้นการป้องกันไวรัสตับอักเสบซีที่ดีที่สุด คือ การหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจทำให้ได้รับเชื้อ เช่น การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน โดนเข็มตำ การมีเพศสัมพันธ์ไม่ป้องกัน เป็นต้น


References

  • European Association for the Study of the Liver. Clinical Practice Guidelines Panel: Chair:; EASL Governing Board representative:; Panel members:. EASL recommendations on treatment of hepatitis C: Final update of the series. J Hepatol. 2020 Nov;73(5):1170-1218.
  • Mark Feldman, Lawrence S. Friedman, Marvin H. Sleisenger. (2020). Sleisenger & Fordtran's gastrointestinal and liver disease : pathophysiology, diagnosis, management. Philadelphia :Saunders,
  • มณฑิรา มณีรัตนะพร, สุพจน์ นิ่มอนงค์, อวยพร เค้าสมบัติวัฒนา. Practical Gastroenterology and Hepatology. กรุงเทพฯ: พริ้นเอเบิ้ล; 2563.
  • สมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย. แนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง ในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2561. กรุงเทพฯ: ภาพพิมพ์; 2561.

ผลการรักษา

ติดต่อเรา

คลินิกคุณหมอบั้ช

หาดใหญ่ สงขลา

เบอร์โทร

098 273 5965

ที่อยู่

688 ถ.สาครมงคล2 หาดใหญ่ สงขลา

เวลาทำการ

จันทร์ 17:00 - 20:00 น.
วันพุธ - ศุกร์ 17:00 - 20:00 น.
วันเสาร์ 13:00 - 18:00 น.
หยุดทุกวันอังคารและอาทิตย์

โรคทั่วไป ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ไข้ ไข้หวัด ไข้เรื้อรัง ไข้ไม่ทราบสาเหตุ เบื่ออาหารน้ำหนักลด ภูมิแพ้ ระบบทางเดินหายใจ ปอดติดเชื้อ หลอดลมตีบ หลอดลมอักเสบ ปวดหัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก ปวดหลัง ปวดข้อ เครียด กังวล นอนไม่หลับ ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน กรดไหลย้อน กระเพาะ ท้องผูก ท้องเสีย ลำไส้แปรปรวน ริดสีดวงทวารหนัก ดีซ่าน ตับ ตับอ่อน ตับแข็ง ไวรัสตับอักเสบ ไขมันเกาะตับ นิ่วในท่อน้ำเดิน มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งตับ มะเร็งตับอ่อน ส่องกล้องกระเพาะ ส่องกล้องลำไส้ใหญ่ ตรวจมะเร็ง ตรวจสุขภาพและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพ