เชื้อเฮลิโลแบคเตอร์ ไพโลไร คืออะไร
Helicobacter pylori (H. pylori) เป็นเชื้อแบคทีเรียที่เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะไปอาศัยอยู่ในกระเพาะอาหาร (ปกติกระเพาะอาหารจะมีความเป็นกรดรุนแรงสามารถทำลายเชื้อโรคส่วนใหญ่ได้ แต่เชื้อ H. pylori นี้สามารถสร้างสารที่มีฤทธิ์ด่างรอบตัวเอง ทำให้เชื้อโรคนี้สามารถอยู่รอดได้ในสภาวะที่มีกรดรุนแรง) โดยเชื้อนี้ทำให้เกิดการอักเสบและทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหาร นำไปสู่การเกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น รวมถึงการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารได้
ปัจจุบันยังไม่ทราบการติดต่อของเชื้ออย่างแน่ชัด แต่เชื่อว่าติดต่อจากคนสู่คน เช่น การติดต่อในครอบครัว และจากการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม เช่น การรับประทานอาหารและน้ำที่มีการปนเปื้อนของเชื้อ H. pylori
ภาพที่ 1 แสดงการติดเชื้อ H. pylori และกลไกการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร
อาการแสดง
ส่วนมากผู้ที่ติดเชื้อ H. pylori มักไม่มีอาการแสดง แต่ในบางรายอาจมีอาการปวดท้องหรือแสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร จุกแน่น อิ่มเร็ว อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำถ่ายเป็นเลือด ซึ่งเป็นผลจากการอักเสบหรือแผลในกระเพาะอาหารได้
ภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อ H. pylori
เนื่องจากการติดเชื้อ H. pylori ทำให้เยื่อบุกระเพาะอาหารอักเสบ นำไปสู่อาการปวดท้อง อาหารไม่ย่อย จากโรคกระเพาะอาหาร (Dyspepsia) กระเพาะอาหารอักเสบ (Gastritis) อีกทั้งการเกิดการอักเสบเรื้อรังของกระเพาะอาหารจากการติดเชื้อ H. pylori ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เยื่อบุกระเพาะอาหาร (Gastric atrophy and gastric intestinal metaplasia) ซึ่งสัมพันธ์กับการเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร (Gastric adenocarcinoma) มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดหนึ่งที่เกิดบริเวณเยื่อบุ (Mucosal Associated Lymphoid tissue (MALT) Lymphoma)
ใครบ้างที่ควรตรวจหาการติดเชื้อ H. pylori
- ผู้เป็นโรคแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น
- ผู้ที่ใช้ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Nonsteroidal anti-inflammatory drugs; NSAIDs) หรือยาแอสไพริน (Aspirin) เป็นระยะเวลานานร่วมกับมีประแผลในกระเพาะอาหาร
- ผู้ที่เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Marginal zone B-cell lymphoma (MALT Lymphoma)
- ผู้ที่มีอาการจากโรคกระเพาะอาหาร (Dyspepsia) ที่ไม่ตอบสนองต่อยาต้านการหลั่งกรด
- ผู้ที่มีญาติสายตรงเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร
- ผู้ที่เป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร
จะรู้ได้อย่างไรว่ามีการติดเชื้อ H. pylori
การวินิจฉัยการติดเชื้อ H. pylori สามารถทำได้หลายวิธี ได้แก่
- การส่องกล้องทางเดินอาหาร แล้วตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ (Endoscopy-based diagnosis) ทำได้โดยการส่องกล้องดูความผิดปกติของกระเพาะอาหาร และตัดชิ้นเนื้อ (Biopsy) มาตรวจว่ามีการติดเชื้อ H. pylori หรือไม่
- การทดสอบจากลมหายใจ (Urease breath test) โดยผู้ป่วยรับประทานสารทดสอบ (Labeled urea) จากนั้นทำการทดสอบลมหายใจ
- การทดสอบจากอุจจาระ (Stool antigen test) เป็นการตรวจหาแอนติเจนของเชื้อในอุจจาระ
- การตรวจเลือด (Serology test) เป็นการตรวจแอนตี้บอดี้ที่ร่างกายสร้างขึ้นเมื่อมีการติดเชื้อ สามารถบอกได้เพียงว่าเคยมีการสัมผัสเชื้อ ปัจจุบันไม่แนะนำให้ใช้วิธีนี้ในการทดสอบ เว้นแต่ไม่สามารถทำการทดสอบด้วยวิธีอื่นได้
ทั้งนี้ยาลดกรด ยาปฏิชีวนะ และสารประกอบบิสมัท มีผลต่อการทดสอบในวิธีที่ 1-3 ซึ่งอาจให้ผลลบลวงได้ ดังนั้นก่อนทำการทดสอบควรหยุดยาลดกรดกลุ่ม Proton pump inhibitors อย่างน้อย 2 สัปดาห์ และหยุดยาปฏิชีวนะและสารประกอบบิสมัทอย่างน้อย 4 สัปดาห์
การรักษา
สามารถรักษาการติดเชื้อ H. pylori ได้ด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะ 2-3 ชนิด ร่วมกับยาลดกรดกลุ่ม Proton pump inhibitors เป็นระยะเวลา 10-14 วัน
หลังจากสิ้นสุดการรักษาแล้วอย่างน้อย 4 สัปดาห์ แนะนำให้ตรวจยืนยันการหายของการติดเชื้อ หากพบว่ายังมีการติดเชื้ออยู่ ผู้ป่วยต้องรับการรักษาซ้ำด้วยยาสูตรอื่น รวมถึงการตรวจหาเชื้อดื้อยา
การติดเชื้อ H. pylori เป็นภาวะที่สามารถรักษาหายได้ การกำจัดเชื้อนอกจากจะเป็นการการลดการแพร่เชื้อสู่บุคคลอื่นแล้ว ยังเป็นการลดการอักเสบของกระเพาะอาหาร ลดอาการของโรคกระเพาะอาหารและภาวะแทรกซ้อน เช่น แผลในกระเพาะอาหาร และลดโอกาสเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารในอนาคตได้
References
- Kayali S, Manfredi M, Gaiani F, Bianchi L, Bizzarri B, Leandro G, Di Mario F, De' Angelis GL. Helicobacter pylori, transmission routes and recurrence of infection: state of the art. Acta Biomed. 2018 Dec 17;89(8-S):72-76.
- Mark Feldman, Lawrence S. Friedman, Marvin H. Sleisenger. (2020). Sleisenger & Fordtran's gastrointestinal and liver disease : pathophysiology, diagnosis, management. Philadelphia :Saunders,
- กลุ่มวิจัยโรคกระเพาะอาหาร สมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหารแหงประเทศไทย. แนวทางเวชปฏิบัติในการวินิจฉัยและการรักษาผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter pylori) ในประเทศไทย พ.ศ. 2558. กรุงเทพฯ: บริษัท คอนเซ็พท์ เมดิคัส จํากัด; 2559.
- มณฑิรา มณีรัตนะพร, สุพจน์ นิ่มอนงค์, อวยพร เค้าสมบัติวัฒนา. Practical Gastroenterology and Hepatology. กรุงเทพฯ: พริ้นเอเบิ้ล; 2563.