ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก (Iron deficiency anemia)

 02 Oct 2023  เปิดอ่าน 11278 ครั้ง

ความสำคัญของธาตุเหล็ก

เหล็กเป็นแร่ธาตุที่มีความสำคัญต่อร่างกาย กล่าวคือธาตุเหล็กเป็นส่วนประกอบของฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) ที่ใช้ในการสร้างเม็ดเลือดแดงที่ทำหน้าที่ลำเลียงออกซิเจนไปยังอวัยวะต่างๆของร่างกาย เมื่อเม็ดเลือดแดงหมดอายุก็จะถูกทำลายและคืนธาตุเหล็กสู่ร่างกายเพื่อนำกลับมาใช้สำหรับสร้างเม็ดเลือดแดงใหม่ และร่างกายยังได้รับธาตุเหล็กจากอาหารที่รับประทานแล้วถูกดูดซึมที่ลำไส้เล็กส่วนต้น หากได้รับธาตุเหล็กไม่เพียงพอหรือมีการสูญเสียธาตุเหล็ก จะทำให้ธาตุเหล็กในร่างกายลดลง นำไปสู่ภาวะโลหิตจางได้


สาเหตุของภาวะซีดจากขาดธาตุเหล็ก

  1. ความต้องการธาตุเหล็กเพิ่มขึ้น เช่น เด็กและวัยรุ่น ที่มีการเจริญเติบโตที่มากขึ้น สตรีที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
  2. รับประทานธาตุเหล็กไม่เพียงพอ เช่น ภาวะทุพโภชนาการจากการขาดสารอาหาร รับประทานอาหารไม่ถูกส่วนไม่เหมาะสมตามวัย ผู้ที่ระบประทานมังสวิรัติก็จะมีความเสี่ยงต่อภาวะขาดธาตุเหล็กเพิ่มขึ้น
  3. ภาวะที่ร่างกายมีการดูดซึมธาตุเหล็กลดลง เช่น การผ่าตัดกระเพาะอาหาร ลำไส้เล็กส่วนต้น การติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโรไล (H. pylori) โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inflammatory bowel disease) รวมถึงการรับประทานอาหารและยาบางชนิดที่มีสารไปจับกับธาตุเหล็กทำให้ดูดซึมไม่ได้
  4. การเสียเลือดเรื้อรัง
  • การเสียเลือดเรื้อรังทางระบบทางเดินอาหาร เป็นสาเหตุของอาการขาดธาตุเหล็กที่พบบ่อยที่สุด เกิดได้หลายสาเหตุ เช่น แผลในกระเพาะอาหาร โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง ติดเชื้อพยาธิปากขอ (Hookworm) ริดสีดวงทวาร มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้
  • การเสียเลือดเรื้อรังทางระบบอื่น เช่น ภาวะประจำเดือนมามาก ภาวะเม็ดเลือดแดงแตกในหลอดเลือด (Intravascular hemolysis)


อาการแสดง

ความรุนแรงของอาการของภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กขึ้นกับความรุนแรงและความเรื้อรังของภาวะโลหิตจาง อาการที่พบได้ เช่น ซีด อ่อนเพลีย หน้ามืด เวียนศีรษะ ใจสั่น เหนื่อยง่ายเมื่อทำกิจกรรม หากภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กเป็นเรื้อรังอาจจะพบอาการเล็บเป็นรูบช้อน (Koilonychia) ปากนกกระจอก (Cheilosis) มุมปากเปื่อย (Angular stomatitis) ลิ้นเลี่ยน (Glossitis) การรับรสผิดไป หากมีภาวะซีดมากอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจวาย (Congestive heart failure) ได้ 

นอกจากนี้บางคนอาจมีบุคลิกเปลี่ยนไป มีอาการชอบรับประทานของแปลกๆ (Pica) เช่น ดิน ดินสอพอง


ภาพแสดง อาการเล็บเป็นรูบช้อน (Koilonychia) (A) มุมปากเปื่อย (Angular stomatitis) (B) และลิ้นเลี่ยน (Glossitis) (C)


การวินิจฉัย

  1. ตรวจค่าเม็ดเลือด (Complete blood count; CBC) พบความเข้มข้นเลือด (Hemoglobin; Hb และ Hematocrit; Hct) ลดลงกว่าค่ามาตรฐาน และเม็ดเลือดแดงมีลักษณะตัวเล็ก
  2. ระดับธาตุเหล็กสะสมในเลือด (Serum ferritin) มีค่าต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ


การรักษา

  1. ให้ธาตุเหล็กเสริม โดยการรับประทานยาธาตุเหล็ก เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3-6 เดือน ซึ่งผลข้างเคียงที่อาจพบจากยาธาตุเหล็กชนิดกิน เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน ท้องผูกได้ สำหรับผู้ที่ไม่สามารถใช้ยาชนิดรับกิน เช่น มีปัญหาการดูดซึมธาตุเหล็ก พิจารณาให้ยาธาตุเหล็กชนิดฉีดแทน แต่ต้องเฝ้าระวังการแพ้แบบรุนแรง (Anaphylaxis)
  2. รับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น ตับ เนื้อสัตว์ ไข่แดง หอยนางรม หอยแมลงภู่ ผู้ที่รับประทานมังสวิรัติอาจรับประทานถั่ว ผักใบเขียว ผลไม้แห้ง จมูกข้าวสาลี
  3. พิจารณาให้เลือดในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการของภาวะซีดรุนแรง ภาวะหัวใจวาย ความดันโลหิตต่ำ
  4. หาสาเหตุและรักษาสาเหตุที่สามารถรักษาได้ เช่น ผู้หญิงที่มีประจำเดือนมามาก ควรเข้ารับการตรวจเพิ่มเติมกับสูตินรีแพทย์เพื่อหาสาเหตุและทำการรักษา ส่วนผู้หญิงที่หมดประจำเดือนและผู้ชายที่มีภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็ก จำเป็นต้องตรวจหาภาวะเลือดออกเรื้อรังในระบบทางเดินอาหารจากสาเหตุต่างๆ เช่น แผลในกระเพาะอาการ ลำไส้อักเสบเรื้อรัง ริดสีดวงทวาร รวมถึงมะเร็งกระเพาะอาหารและมะเร็งลำไส้ ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยและสามารถรักษาได้ โดยการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น (Esophagogastroduodenoscopy; EGD) และส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (colonoscopy)


การติดตามการรักษา

ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กตอบสนองดีต่อการให้ธาตุเหล็ก โดยพบการตอบสนองต่อการรักษาภายใน 72-96 ชั่วโมงหลังได้รับยาธาตุเหล็กเสริม หากตรวจเลือดจะพบค่าฮีโมโกลบินเพิ่มขึ้น

เมื่อรับประทานยาธาตุเหล็กแล้ว 1 เดือน แนะนำให้ตรวจเลือดซ้ำ เพื่อประเมินผลสำเร็จของการักษาด้วยยาธาตุเหล็ก และยืนยันการวินิจฉัยที่ถูกต้อง รวมถึงการวินิจฉัยแยกโรคอื่น เช่น ธาลัสซีเมีย และสืบหาสาเหตุอื่นของภาวะโลหิตจางดังที่กล่าวไปข้างต้น 

แม้ว่าค่าความเข้มข้นของเลือดหลังทานยาธาตุเหล็กเสริมที่ 1 เดือนจะเป็นปกติแล้ว ผู้มีอาการซีดจากภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กจำเป็นต้องทานยาธาตุเหล็กเสริมอีกสักระยะอย่างน้อย 3-6 เดือน เพื่อทดแทนการพร่องธาตุเหล็กก่อนหน้านี้


References

  • Ko CW, Siddique SM, Patel A, Harris A, Sultan S, Altayar O, Falck-Ytter Y. AGA Clinical Practice Guidelines on the Gastrointestinal Evaluation of Iron Deficiency Anemia. Gastroenterology. 2020 Sep;159(3):1085-1094.
  • Shuoyan Ning, Michelle P. Zeller; Management of iron deficiency. Hematology Am Soc Hematol Educ Program 2019; 2019 (1): 315–322.
  • คณะอนุกรรมการจัดทำแนวทางการรักษา โรค Red Cell Disorders สมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย. แนวทางเวชปฏิบัติสำหรับการรักษา ภาวะโลหิตจางและธาลัสซีเมีย. 2562.

ผลการรักษา

ติดต่อเรา

คลินิกคุณหมอบั้ช

หาดใหญ่ สงขลา

เบอร์โทร

098 273 5965

ที่อยู่

688 ถ.สาครมงคล2 หาดใหญ่ สงขลา

เวลาทำการ

จันทร์ 17:00 - 20:00 น.
วันพุธ - ศุกร์ 17:00 - 20:00 น.
วันเสาร์ 13:00 - 18:00 น.
หยุดทุกวันอังคารและอาทิตย์

โรคทั่วไป ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ไข้ ไข้หวัด ไข้เรื้อรัง ไข้ไม่ทราบสาเหตุ เบื่ออาหารน้ำหนักลด ภูมิแพ้ ระบบทางเดินหายใจ ปอดติดเชื้อ หลอดลมตีบ หลอดลมอักเสบ ปวดหัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก ปวดหลัง ปวดข้อ เครียด กังวล นอนไม่หลับ ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน กรดไหลย้อน กระเพาะ ท้องผูก ท้องเสีย ลำไส้แปรปรวน ริดสีดวงทวารหนัก ดีซ่าน ตับ ตับอ่อน ตับแข็ง ไวรัสตับอักเสบ ไขมันเกาะตับ นิ่วในท่อน้ำเดิน มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งตับ มะเร็งตับอ่อน ส่องกล้องกระเพาะ ส่องกล้องลำไส้ใหญ่ ตรวจมะเร็ง ตรวจสุขภาพและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพ