โรคกรดไหลย้อน

 16 Aug 2023  เปิดอ่าน 882 ครั้ง

โรคกรดไหลย้อน(Gastroesophageal reflux disease, GERD) คือกลุ่มโรคอันเกิดจากภาวะที่มีน้ำย่อยจากกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กไหลย้อนเข้ามาในหลอดอาหาร ส่งผลรบกวนต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย และ/หรือมีภาวะแทรกซ้อน

รูปที่ 1. แสดงพยาธิสภาพการเกิดโรคกรดไหลย้อน (ภาพจาก Philip O. Katz et al. Am J Gastroenterol 2022


อาการของโรคกรดไหลย้อนแสดงถึงการอักเสบของเยื่อบุหลอดอาหารอันเกิดจากการไหลย้อนของกรดและน้ำย่อยจากกระเพาะอาหารเข้าสู่หลอดอาหาร โดยพยาธิสภาพของหลอดอาหารมีตั้งแต่ความผิดปกติไม่มากซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า จนกระทั่งมีอาการอักเสบ หรือมีผลแทรกซ้อนจากการอักเสบคือ การตีบของหลอดอาหารส่วนปลาย, เซลล์เยื่อบุหลอดอาหารเปลี่ยนเป็นเซลล์ที่มีลักษณะคล้ายเซลล์จากลำไส้ (Barrett’s esophagus) และมะเร็งหลอดอาหารส่วนปลาย ดังแสดงในรูปที่ 2. 

รูปที่ 2. แสดงลักษณะหลอดอาหารอักเสบ และ ภาวะแทรกซ้อนต่างๆ, A) หลอดอาหารอักเสบ, B) หลอดอาหารตีบ, C) Barrett’s esophagus, และ D) มะเร็งหลอดอาหารส่วนปลาย (ภาพจาก Kahrilas PJ. Clinical practice. Gastroesophageal reflux disease. The New England journal of medicine. 2008) 


อาการ

อาการทางหลอดอาหาร คือ อาการแสบร้อนยอดอก หรืออาการแสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ร้าวมาบริเวณหน้าอก เรอเปรี้ยว ขมปาก  ในรายที่เป็นมากอาจมีอาการกลืนติด หรือกลืนเจ็บ ซึ่งบ่งถึงภาวะแทรกซ้อนจากตัวโรครุนแรงจนมีแผล หลอดอาหารตีบ หรือมะเร็งหลอดอาหารส่วนปลาย 

อาการนอกหลอดอาหาร ผู้ป่วยอาจมาพบแพทย์ด้วยอาการนอกหลอดอาหารเป็นหลักหรือมีอาการทางหลอดอาหารไม่ชัดเจนได้แก่ อาการด้านระบบหูคอจมูก เช่น เสียงแหบเรื้อรัง, เจ็บคอเรื้อรัง หรือมาด้วยอาการด้านระบบหายใจเช่น ไอเรื้อรัง หอบหืด อาการทางช่องปาก เช่นฟันผุ มีกลิ่นปาก 


การวินิจฉัย

1. วินิจฉัยจากอาการทางหลอดอาหาร ถ้าไม่มีอาการเตือนสามารถวินิจฉัยกรดไหลย้อนและเริ่มต้นการรักษาได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องสืบค้นเพิ่มเติม

2. การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น (Upper gastrointestinal endoscopy) มีจุดประสงค์เพื่อประเมินหลอดอาหาร เป็นการตรวจมาตรฐานเพื่อหาความผิดปกติของหลอดอาหาร โดยข้อดีคือสามารถประเมินว่ามีการอักเสบของหลอดอาหารหรือไม่ และประเมินระดับความรุนแรง รวมถึงภาวะแทรกซ้อนของตัวโรคได้ ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องทำทุกราย แนะนำให้ตรวจในกรณีผู้ป่วยความเสี่ยงสูง 

3. การวัดกรดในหลอดอาหารตลอดเวลา สามารถทำได้สองวิธี คือการใส่สายผ่านจมูกและค้างไว้ 24 ชั่วโมง หรือวัดโดยอาศัย แคปซูลวัดกรดติดไว้ในหลอดอาหาร เป็นเวลา 48 ชั่วโมง (Bravo capsule) 

4. การตรวจหลอดอาหารโดยการกลืนแป้งแบเรียม เป็นการตรวจค้นรอยโรคของหลอดอาหารที่ใช้แพร่หลายในอดีต ปัจจุบันไม่แนะนำให้ใช้วิธีนี้ในการวินิจฉัยโรคกรดไหลย้อน

5. การตรวจการเคลื่อนไหวของหลอดอาหาร (Esophageal manometry) มักไม่ได้ประโยชน์ในแง่การวินิจฉัยโรคกรดไหลย้อน แต่มีประโยชน์ในแง่อื่นๆเช่น การประเมินผู้ป่วยก่อนเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัด ในผู้ป่วยที่มีอาการไม่ชัดเจนต้องวินิจฉัยแยกโรคกับโรคกลุ่มอาการหลอดอาหารเคลื่อนที่ผิดปกติอื่นๆ


การรักษา

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม 

การลดน้ำหนัก จากความรู้ที่ว่าความอ้วนทำให้มีโอกาสเป็นโรคกรดไหลย้อนมากขึ้น การลดน้ำหนักทำให้ความดันในช่องท้องลดลง ส่งผลให้มีกรดไหลย้อนเข้ามาในหลอดอาหารน้อยลง ปัจจุบันแนะนำให้ลดน้ำหนักในผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน (overweight) ทุกราย โดยการศึกษาพบว่า อาการของโรคจะลดลงเมื่อผู้ป่วยลดน้ำหนักลงจน Body mass index(BMI) ลดลงจากเดิมอย่างน้อย 3.5 กก./ม

การนอนยกหัวสูง โดยให้สูงประมาณ 6-8 นิ้ว จะช่วยลดการเกิดกรดไหลย้อนได้ และควรหลีกเลี่ยงการนอนหลังรับประทานอาหารภายใน 3 ชั่วโมง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการเวลากลางคืน

ความเชื่อในอดีตที่ว่า การรับประทานอาหารมื้อใหญ่ สูบบุหรี่ เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์และคาเฟอีน อาหารที่มีไขมันสูง ช็อกโกแลต มิ้นท์ อาหารที่มีรสเปรี้ยวและน้ำอัดลม จะกระตุ้นอาการของโรค แต่ ณ ปัจจุบัน ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมดังกล่าว สามารถลดการเกิดกรดไหลย้อนได้  จึงยังไม่แนะนำในแนวทางปฎิบัติในปัจจุบัน

การรักษาด้วยยา

การใช้ยาควรประเมินว่าผู้ป่วยตอบสนองต่อยาหรือไม่ 

ถ้าผู้ป่วยตอบสนองต่อยาแนะนำให้กินยาต่อในขนาดเดิมจนครบ 8 สัปดาห์ หลังจากนั้นจึงพิจารณาในการรักษาระยะยาว 

ถ้าผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อยาให้พิจารณา เพิ่มขนาดของยาเดิมเป็นวันละ 2 ครั้ง หรือเปลี่ยนชนิดของยา หรือส่งต่อผู้ป่วยไปยังแพทย์ระบบทางเดินอาหารเพื่อทำการสืบค้นสาเหตุและรักษาต่อไป

การรักษาโดยการผ่าตัด

ผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนที่อาจต้องพิจารณารักษาโดยการผ่าตัดได้แก่ ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยาเป็นเวลานาน หลอดอาหารอักเสบมาก หลอดอาหารตีบ ผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา


#กรดไหลย้อน, #ปวดท้อง, #แสบหน้าอก, #เรอเปรี้ยว, #ขมปาก, #เสียงแหบเรื้อรัง, #เจ็บคอเรื้อรัง, #ไอเรื้อรัง, #หอบหืด, #ฟันผุ, #มีกลิ่นปาก


เอกสารอ้างอิง

- กีรติ อัครปฏิมา, อรุณชัย แซ่ฉั่ง GASTROESOPHAGEAL REFLUX SYNDROME, อายุรศาสตร์หาดใหญ่ เล่ม 2 “Common Problem in Pmbulatory Medicine" 2017; 19-30.

- Vakil N, van Zanten SV, Kahrilas P, Dent J, Jones R. The Montreal definition and classification of gastroesophageal reflux disease: a global evidence-based consensus. The American journal of gastroenterology. 2006;101(8):1900-20; quiz 43.

- Harnik IG. In the Clinic. Gastroesophageal Reflux Disease. Annals of internal medicine. 2015;163(1):Itc1.

ผลการรักษา

ติดต่อเรา

คลินิกคุณหมอบั้ช

หาดใหญ่ สงขลา

เบอร์โทร

098 273 5965

ที่อยู่

688 ถ.สาครมงคล2 หาดใหญ่ สงขลา

เวลาทำการ

จันทร์ 17:00 - 20:00 น.
วันพุธ - ศุกร์ 17:00 - 20:00 น.
วันเสาร์ 13:00 - 18:00 น.
หยุดทุกวันอังคารและอาทิตย์

โรคทั่วไป ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ไข้ ไข้หวัด ไข้เรื้อรัง ไข้ไม่ทราบสาเหตุ เบื่ออาหารน้ำหนักลด ภูมิแพ้ ระบบทางเดินหายใจ ปอดติดเชื้อ หลอดลมตีบ หลอดลมอักเสบ ปวดหัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก ปวดหลัง ปวดข้อ เครียด กังวล นอนไม่หลับ ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน กรดไหลย้อน กระเพาะ ท้องผูก ท้องเสีย ลำไส้แปรปรวน ริดสีดวงทวารหนัก ดีซ่าน ตับ ตับอ่อน ตับแข็ง ไวรัสตับอักเสบ ไขมันเกาะตับ นิ่วในท่อน้ำเดิน มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งตับ มะเร็งตับอ่อน ส่องกล้องกระเพาะ ส่องกล้องลำไส้ใหญ่ ตรวจมะเร็ง ตรวจสุขภาพและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพ