โรคกระเพาะอาหาร หรือ โรคอาหารไม่ย่อย หรือปวดท้องลิ้นปี่ (dyspepsia) เป็นภาวะทางระบบทางเดินอาหารที่พบได้บ่อย เป็นกลุ่มอาการทางระบบทางเดินอาหารส่วนบนที่มีความหลากหลาย โดยให้ความสำคัญกับสัญญาณเตือน (alarming features) ที่ต้องทำการสืบค้นเพิ่มเติม โดยเฉพาะการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน
อาการของโรคกระเพาะอาหาร ผู้ป่วยมักมีอาการปวด แสบร้อน หรือไม่สุขสบายบริเวณลิ้นปี่ สามารถแบ่งย่อยได้เป็น 4 อย่างดังนี้
- มีอาการอืดแน่นหลังรับประทานอาหารจนรบกวนชีวิตประจำวัน (bothersome postprandial fullness)
- มีอาการอิ่มเร็วจนรบกวนชีวิตประจำวัน (bothersome early satiation)
- มีอาการปวดท้องลิ้นปี่จนรบกวนชีวิตประจำวัน (bothersome epigastric pain)
- มีอาการแสบร้อนลิ้นปี่จนรบกวนชีวิตประจำวัน (bothersome epigastric burning)
สาเหตุของอาการโรคกระเพาะอาหาร
1. แผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก
2. กระเพาะอาหารอักเสบ
3. ติดเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพรอไล (Helicobacter pylori)
4. ยาที่มีฤทธิ์ระคายเคืองกระเพาะอาหาร เช่น แอสไพริน ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาธาตุเหล็ก ยาโพแทสเซียม
5. มะเร็งกระเพาะอาหาร
6. โรคกระเพาะอาหารแปรปรวน (functional dyspepsia) คือ ผู้ที่ตรวจแล้วไม่พบสาเหตุที่อธิบายอาการโรคกระเพาะอาหาร
7. โรคของทางเดินน้ำดี เช่น นิ่วถุงน้ำดี
8. โรคของตับ เช่น มะเร็งตับ
การตรวจเพื่อวินิจฉัยชนิดของโรคกระเพาะอาหาร
การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน (Esophagogastroduodenoscopy) ควรพิจารณาทำการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบนในผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหารดังต่อไปนี้
- อายุเมื่อเริ่มมีอาการโรคกระเพาะอาหารมากกว่าหรือเท่ากับ 50 ปี เนื่องจากอุบัติการณ์ของการตรวจพบมะเร็งกระเพาะอาหารในประเทศไทยสูงขึ้นชัดเจนหลังอายุ 50 ปี
- มีสัญญาณเตือน
- ภาวะเลือดออกจากทางเดินอาหารส่วนบน
- ภาวะซีดจากการขาดเหล็ก
- น้ำหนักลดโดยไม่มีสาเหตุที่อธิบายได้
- อาเจียนต่อเนื่อง
- อาการกลืนลำบาก
- มีประวัติมะเร็งทางเดินอาหารส่วนบนในญาติสายตรง
- อาการไม่ดีขึ้นหลังได้รับการรักษาที่เหมาะสม ควรได้รับการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบนเพื่อหาสาเหตุทางกายหรือประกอบการวินิจฉัยโรคกระเพาะอาหารแปรปรวนและปรับยาเพิ่มเติมอย่างเหมาะสมต่อไป
การทดสอบและรักษาการติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Test and treat Helicobacter pylori)
การกำจัดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไรในผู้ป่วยที่ตรวจพบการติดเชื้อ พบว่าสามารถทำให้อาการโดยรวมของโรคกระเพาะอาหารดีขึ้น นอกเหนือไปกว่านั้นการติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไรยังสัมพันธ์กับการเกิดแผลและมะเร็งกระเพาะอาหาร เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยที่ได้รับยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์หรือแอสไพริน จึงแนะนำให้ทำการตรวจการติดเชื้อในผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหารทุกรายที่ได้รับการส่องกล้องทางเดินอาหาร (ตรวจด้วยวิธี rapid urease test หรือตรวจทาง histology) หรือตรวจด้วยวิธีเป่าลมหายใจ (urea breath test) ในผู้ป่วยที่ไม่มีสัญญาณเตือนและอาการไม่ดีขึ้นหลังได้รับการรักษาด้วยยายับยั้งการหลั่งกรดในเบื้องต้น
การรักษาโรคกระเพาะอาหาร
การรักษามีด้วยกันหลายวิธี ส่วนหนึ่งคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรค ร่วมกับการรักษาตามสาเหตุที่วินิจฉัยพบ คือ
- แนะนำให้รับประทานอาหารสามมื้อ ตรงเวลา รับประทานอาหารพอประมาณไม่อิ่มจนเกินไป เคี้ยว อาหารให้ละเอียด ควรเดินหลังรับประทานอาหารเพื่อช่วยให้การเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารดีขึ้น
- ควรหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด หมักดอง หลีกเลี่ยง แอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่เนื่องจากจะกระตุ้นให้ปวดท้อง
- รับประทานยาตามแพทย์สั่ง หากเกิดจากเชื้อแบคทีเรียเอชไพโลไรจะได้รับยาลดกรด กับยาปฏิชีวนะ
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ พยายามควบคุมความเครียดของตนเอง หากเริ่มมีความเครียดให้ทำกิจกรรมอื่นที่ผ่อนคลาย
ปัญหาที่พบบ่อยในเวชปฏิบัติ
ปัญหาการทำการสืบค้นเพิ่มเติมในผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหารเกินความจำเป็น (over investigation)
เนื่องจากโรคกระเพาะอาหารแปรปรวนเป็นภาวะเรื้อรังที่ไม่เป็นอันตราย แต่สามารถมีอาการกำเริบหรือกลับเป็นซ้ำเป็นระยะ ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและนำมาซึ่งการใช้ทรัพยากรทางด้านสุขภาพเป็นอย่างมาก การสืบค้นเพิ่มเติมโดยไม่จำเป็นอาทิเช่น การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องท้อง หรือการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบนซ้ำในระยะเวลา 3 ปี นอกจากจะไม่ได้ประโยชน์เพิ่มแล้วอาจทำให้ผู้ป่วยมีความวิตกกังวลกับอาการที่เป็นอยู่มากขึ้น การตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องอาจพิจารณาทำได้ในผู้ป่วยที่สงสัยอาการจากนิ่วในถุงน้ำดีซึ่งบางครั้งแยกกันยากกับอาการโรคกระเพาะอาหาร
ปัญหาการส่งผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัดช่องท้องโดยไม่จำเป็น (inappropriate referral for abdominal surgery)
การตรวจพบนิ่วในถุงน้ำดี พบได้บ่อยในผู้ป่วยที่มีอาการโรคกระเพาะอาหาร ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นสาเหตุของการปวดท้องของผู้ป่วย บ่อยครั้งที่แพทย์ขาดความเข้าใจและส่งต่อผู้ป่วยเพื่อรับการผ่าตัด ซึ่งนอกจากจะไม่ทำให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้นแล้ว ผู้ป่วยยังอาจได้รับภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดอีกด้วย แพทย์จึงควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคกระเพาะอาหารเป็นอย่างดี เพื่อป้องกันและลดการสืบค้นเพิ่มเติมที่เกินความจำเป็น อันจะนำไปสู่การส่งต่อผู้ป่วยเพื่อรับการรักษาที่ไม่เหมาะสมต่อไป
การดูแลผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหารในทางเวชปฏิบัติมีข้อแนะนำและข้อควรระวังที่สำคัญเป็นอันมาก ได้แก่
- การให้ความสำคัญกับอาการที่เข้าได้กับเกณฑ์การวินิจฉัย
- การพยายามมองหาสัญญาณอันตรายและให้การสืบค้นเพิ่มเติมตามความเหมาะสม
- การให้ยารักษาตามหลักฐานเชิงประจักษ์และหยุดยาเมื่อไม่จำเป็นโดยเฉพาะยายับยั้งการหลั่งกรด
- ทั้งนี้การประเมินและรักษาโดยผู้เชี่ยวชาญมีความรักษาอย่างยิ่ง เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการสืบค้นโรคและรักษาได้อย่างตรงจุด
เอกสารอ้างอิง
- Stanghellini V, Chan FK, Hasler WL, et al. Gastroduodenal disorders. Gastroenterology 2016; 150:1380-92.
- Sugano K, Tack J, Kuipers EJ, et al. Kyoto global consensus report on Helicobacter pylori gastritis. Gut 2015; 64:1353-67.
- Horowitz N, Moshkowitz M, Leshno M, et al. Clinical trial: evaluation of a clinical decision-support model for upper abdominal complaints in primary-care practice. Aliment Pharmacol Ther 2007; 26:1277-83.
- Luman W, Adams WH, Nixon SN, et al. Indidence of persistent symptoms after laparoscopic cholecystectomy: a prospective study. Gut 1996; 39:863-6.