โรคแผลในกระเพาะอาหารเป็นหนึ่งในอาการทางระบบทางเดินอาหารที่พบบ่อยมากในปัจจุบันและมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น
ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการปวดแสบท้องบริเวณลิ้นปี่ที่ดีขึ้นเมื่อรับประทานอาหารหรือยาลดกรด
รวมถึงอาการจุกแน่น เรอบ่อย เป็นอาการที่ไม่ควรมองข้าม
ทั้งนี้โรคแผลในกระเพาะอาหารเป็นโรคที่ไม่ควรมองข้าม
หากปล่อยไว้นอกจากจะรบกวนคุณภาพชีวิตแล้ว
อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อน เช่น แผลเลือดออก แผลกระเพาะอาหารทะลุได้
โรคแผลในกระเพาะอาหารคืออะไร
โรคแผลในกระเพาะอาหาร (Peptic ulcer disease; PUD) คือโรคที่มีแผลเกิดขึ้นในกระเพาะอาหารและ/หรือลำไส้เล็กส่วนต้น
สาเหตุของการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร
การเกิดแผลในกระเพาะอาหารเป็นผลมาจากความไม่สมดุลระหว่างปัจจัยทำลาย (Aggressive factors) เช่น การสูบบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กับปัจจัยป้องกัน (Protective factors) ในกระเพาะอาหาร โดยสาเหุตที่พบบ่อย ได้แก่ การติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter pylori; H. pylori) การใช้ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Nonsteroidal anti-inflammatory drugs; NSAIDs) หรือยาแอสไพริน (Aspirin) เป็นระยะเวลานาน ส่วนสาเหตุอื่นๆที่พบได้น้อย คือ เนื้องอกแกสตริโนมา (Gastrinoma) ในกลุ่มอาการโซลลิงเจอร์-เอลลิสัน (Zollinger-Ellison syndrome) การติดเชื้อไวรัส เช่น เชื้อไซโตเมกาโลไวรัสหรือเชื้อซีเอ็มวี (Cytomegalovirus; CMV)
สำหรับการติดเชื้อ H. pylori เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดในปัจจุบัน เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะไปอาศัยอยู่ในกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดการอักเสบและทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหาร นำไปสู่การเกิดแผลในกระเพาะอาหาร
ส่วนการรับประทานยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์หรือยาแอสไพริน ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารจากการที่ยาไปทำลายปัจจัยป้องกันของเยื่อบุกระเพาะอาหาร ดังนั้นผู้ที่ใช้ยากลุ่มนี้เป็นประจำหรือใช้เป็นระยะเวลานาน อาจะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้
รูปที่ 1 แสดงสาเหตุของการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร
(ภาพจากสมาคมแพทย์ทางเดินอาหารแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา; American Gastroenterology Association)
อาการแสดง
ผู้ป่วยส่วนมากมักมีอาการปวดท้องบริเวณลิ้นปี่ อาการปวดมักสัมพันธ์กับความหิว มักเกิดในช่วงกลางคืน และอาการดีขึ้นเมื่อรับประทานอาหารหรือยาลดกรด แต่ในบางรายอาจมีอาหารปวดท้องเมื่อรับประทานอาหารได้เช่นกัน นอกจากนี้อาจมีอาการแน่นท้อง เรอบ่อย อิ่มเร็ว เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน แสบร้อนกลางอกได้เช่นกัน
ในผู้สูงอายุบางรายอาจไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย แต่อาจมาด้วยภาวะแทรกซ้อนจากตัวโรค เช่น แผลเลือดออก แผลทะลุ ทางเดินอาหารตีบแคบ
ในรายที่มาด้วยอาการของแผลเลือดออก อาจมีอาการอาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำหรือถ่ายเป็นเลือด สัญญาณชีพเปลี่ยนแปลง ขึ้นกับความรุนแรงของเลือดที่ออก
รูปที่ 2 แสดงความรุนแรงของแผลในกระเพาะอาหารจำแนกตาม Forrest Classification
การวินิจฉัย
การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น (Esophagogastroduodenoscopy; EGD) เป็นวิธีการวินิจฉัยมาตรฐานในปัจจุบัน สามารถประเมินแผล ตัดชิ้นเนื้อไปตรวจเพื่อหาสาเหตุการเกิดแผลเพิ่มเติมได้ เช่น การติดเชื้อ H. pylori วินิจฉัยโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ยังสามารถทำการรักษาภาวะแทรกซ้อนบางอย่างของแผลที่พบขณะส่องกล้องทางเดินอาหารได้ เช่น การห้ามเลือดผ่านการส่องกล้อง
การรักษา
1.การใช้ยารักษาแผล
- ยาลดการหลั่งกรด (Antisecretory agents) เช่น ยากลุ่ม Proton pump inhibitors (PPIs) ยากลุ่ม H2 receptor antagonists (H2Ras) โดยระยะเวลาในการรับประทานยา 4-8 สัปดาห์ ขึ้นกับลักษณะแผลที่ตรวจพบจากการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น
- ยาเสริมสร้างความแข็งแรงของเยื่อบุกระเพาะอาหาร (Mucosal protective agents) เช่น ยาซูคราลเฟต (Sucralfate) สารประกอบบิสมัท (Bismuth salts)
- ยาลดกรด (Antacids) โดยทั่วไปไม่ได้ใช้เป็นยาหลักในการรักษาแผล แต่ใช้เป็นยาร่วมช่วยบรรเทาอาการปวดท้องลิ้นปี่
2.การกำจัดสาเหตุของแผล และการป้องกันการกลับเป็นซ้ำ
- การรักษาการติดเชื้อ H. pylori หากตรวจพบว่ามีการติดเชื้อ โดยรับประทานยาปฏิชีวนะร่วมกับยาลดกรดตามแพทย์สั่ง
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) หรือยาแอสไพรินเป็นประจำ แต่ในกรณีที่มีข้อบ่งชี้ในการใช้ยากลุ่มนี้เป็นระยะเวลานานเพื่อรักษาโรคอื่น เช่น ภาวะทางหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง พิจารณาให้ร่วมกับยาลดการหลั่งกรด เพื่อลดอัตราการเกิดแผลกลับเป็นซ้ำ
3.การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
- ล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหาร รับประทานอาหารและน้ำที่สะอาด เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ H. pylori
- รับประทานอาหารที่ย่อยง่าย ปริมาณน้อย ไม่ควรรับประทานให้อิ่มจนเกินไปในแต่ละมื้อ
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาหารรสจัด หมักดอง และงดสูบบุหรี่ เนื่องจากกระตุ้นให้มีการหลั่งกรดมากขึ้น ทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหาร นำไปสู่อาการปวดท้องและการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่เครียด พักผ่อนให้เพียงพอ
กล่าวโดยสรุป โรคแผลในกระเพาะอาหารเกิดจากเยื่อบุกระเพาะอาหารอักเสบและถูกทำลาย นำไปสู่อาการปวดแสบท้องบริเวณลิ้นปี่ และภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น แผลเลือดออก แผลทะลุ ทางเดินอาหารตีบแคบได้ สามารถตรวจวินิจฉัยได้โดยการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น ซึ่งสาเหตุของโรคแผลในกระเพาะอาหารที่พบได้บ่อย ได้แก่ การติดเชื้อ H. pylori และการใช้ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์หรือยาแอสไพริน ซึ่งเป็นสาเหตุที่สามารถรักษาและป้องกันได้ ร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เหมาะสม
References
- Mark Feldman, Lawrence S. Friedman, Marvin H. Sleisenger. (2020). Sleisenger & Fordtran's gastrointestinal and liver disease : pathophysiology, diagnosis, management. Philadelphia :Saunders,
- Yegen BC. Lifestyle and Peptic Ulcer Disease. Curr Pharm Des. 2018;24(18):2034-2040.
- มณฑิรา มณีรัตนะพร, สุพจน์ นิ่มอนงค์, อวยพร เค้าสมบัติวัฒนา. Practical Gastroenterology and Hepatology. กรุงเทพฯ: พริ้นเอเบิ้ล; 2563.